กันยายน 10, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

กิจกรรมการอบรมออนไลน์ “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ปีงบประมาณ 2563”

สสว. ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์, ทีเส็บ และ ISMED สร้างปฎิบัติการเรียนรู้สู่การ “พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0” (COOP 4.0) รับยุค New Normal สหกรณ์ทั่วประเทศตื่นตัว ผลตอบรับดีเกินคาด
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ กรมส่งเสริมสหกรณ์, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดการอบรมออนไลน์เชิงปฎิบัติการ “พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0” เสริมสร้างพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ไทยที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ได้แก่ ภาคการเกษตร การผลิต และการบริการ ทั่วประเทศ นำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจที่พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในยุคดิจิทัลที่มาเร็วและแรง ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด 19 ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง และปรับตัวเร็วให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของความร่วมมือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 เพื่อขับเคลื่อนปฎิบัติการ “พลิกโฉมสหกรณ์ไทยสู่ยุค 4.0” มุ่งสร้างการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงยุคเทคโนโลยีดิจิทัลแก่สหกรณ์และสมาชิก สหกรณ์ไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถ สร้างเสริมศักยภาพ สู่กระบวนการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการของสหกรณ์ และแนวทางโมเดลทางธุรกิจใหม่สู่ยุค 4.0 ที่สามารถแข่งขันได้ในยุคปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยได้รวมกระบวนการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ การศึกษาดูงานหรือบรรยาย/แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกิจการที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจใหม่ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเครือข่ายระหว่างสหกรณ์และภาคีที่เกี่ยวข้อง สหกรณ์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดจะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเชิงลึกเพื่อพัฒนาเฉพาะด้านต่อไป
โดยในเฟสแรกนี้ กิจกรรมเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์นั้นได้รับผลตอบรับดีมาก มีสหกรณ์กว่า 200 แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตื่นตัวสมัครเข้าร่วมเรียนรู้ ผ่านแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย (เฟสบุค ไลฟ์) ทางเพจโครงการ coop 4.0 มียอดวิวเข้าชมการอบรมสูงกว่า 10,000 วิว ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 6 วิทยากรระดับแนวหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ยุค 4.0 นำโดย อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูด้านการตลาดชื่อดัง, ผศ.ธเนศ ศิริกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจ, นายสุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย (อ.แมท) ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์, ดร.อภิวัฒน์ จ่าตา (ทิดเป้) พิธีกรการเกษตรชื่อดังดีกรีด็อกเตอร์, นายอรุษ นวราช เจ้าของสวนสามพรานโมเดล และ ผศ.ดร.อัจฉรา เกษสุวรรณ อาจารย์สายพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและการตลาดเกษตร สำหรับสมาชิกสหกรณ์ได้เข้ารับการอบรมเรียนรู้ตามที่ได้กำหนดครบตามเงื่อนไขจะมีสิทธิรับการคัดเลือกเพื่อรับรางวัล SMART COOP 4.0 อันเป็นรางวัลเพื่อความภูมิใจของสหกรณ์คุณภาพที่เข้าร่วมโครงการกับ สสว.
ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เน้นย้ำว่า โครงการและกิจกรรมนี้ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศ ผ่านโมเดลสหกรณ์พี่น้องที่จะเอื้อให้สหกรณ์ระดับ A B C ในจังหวัดเดียวกันได้ช่วยเหลือต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันได้ ผ่านการลองใช้งานออนไลน์จริงตั้งแต่การอบรม ครั้งแรก จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและต้องคุ้นเคยกับวิถีชีวิตปกติใหม่ ที่ต้องใช้มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารเพื่อ การเรียนรู้ ถ้าสมาชิกสหกรณ์เริ่มเข้าใจการเปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพ และวางแผนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบสหกรณ์ไทย 4.0 ได้ไม่ยาก ที่สำคัญเมื่อจบโครงการจะนำมาสู่การสร้างรายได้ ที่เพิ่มขึ้นให้กับสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศได้อีกจำนวนมาก ทั้งนี้สหกรณ์จะได้รับการพัฒนา องค์ความรู้ และประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการสูญเสียในระบบการผลิต หรือแม้แต่การปรับปรุงระบบเทคโนโลยี (IT) และการให้บริการลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการด้านธุรกิจที่สำคัญซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศ ในส่วนความร่วมมือโครงการนี้ ทีเส็บจะช่วยวิเคราะห์ความต้องการของตลาด จุดเด่นจุดด้อยของสหกรณ์ โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจภาคการผลิต การค้า บริการ และภาคธุรกิจการเกษตร ตลอดจนช่วยพัฒนาในด้านที่สามารถเชื่อมโยงให้สหกรณ์นำศักยภาพที่มีในชุมชนเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นสหกรณ์ที่สามารถรองรับธุรกิจไมซ์ นักเดินทางไมซ์ การจัดงาน จัดประชุมและการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

You may have missed