พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล Digital Government Awards 2020 (รางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2563) จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA วันที่ 3 ธันวาคม 2563 ณ สโมสรทหารบก วิภาวดี กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานมีการมอบโล่รางวัลรัฐบาลดิจิทัลระดับกรม 10 รางวัล และระดับจังหวัด 5 รางวัล พร้อมรางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) 3 รางวัล รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Data.go.th) 5 รางวัล และรางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 2020 1 รางวัล
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล พร้อมแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2563 ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปรับเปลี่ยนหน่วยงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ หรือ Data Governance และการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Data.go.th ซึ่งเป็นการยกระดับการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกันและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล โดยมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการและเข้าถึงของประชาชน และในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากความตั้งใจอย่างต่อเนื่องที่จะยกระดับรัฐบาลดิจิทัลจากทุกหน่วยงาน ส่งผลให้ในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2563 (e-Government Development Index: EGDI 2020) โดยองค์การสหประชาชาติ ปรับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 57 จากอันดับที่ 73 ในปี 2561 โดยค่าคะแนนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น จาก 0.6543 เป็น 0.7564 เท่ากับเพิ่มขึ้น 0.1022 คะแนน หรือ ประมาณร้อยละ 15 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของ EGDI ซึ่งอยู่ที่ 0.0497 คะแนน หากเมื่อคำนึงถึงเฉพาะประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศไทย มีอันดับสูงขึ้นเป็นที่ 3 ของอาเซียนแทนที่ประเทศบรูไน เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์ที่ยังคงมีระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สูงกว่าประเทศสมาชิกอื่นโดยเปรียบเทียบมาอย่างต่อเนื่อง และประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานถึงโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐว่า DGA ได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นประจำทุกปี และในปี 2563 นี้ DGA ยังได้พัฒนาแบบจำลองระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government Maturity Model เพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐทราบสถานะปัจจุบันในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานตนเอง และเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานด้วย อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัล จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ และให้หน่วยงานระดับนโยบายได้นำไปประกอบการจัดทำแผนและติดตามงานด้านนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป
ด้าน ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ในปี 2563 ว่า ในปีนี้ ได้สำรวจหน่วยงานภาครัฐจำนวนทั้งสิ้น 1,926 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานตอบแบบสำรวจฯ กลับ จำนวน 1,850 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 96.1 ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่า จำนวน 315 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานตอบแบบสำรวจฯ กลับ จำนวน 292 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 92.7 หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) จำนวน 1,609 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานตอบแบบสำรวจฯ กลับ จำนวน 1,556 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 96.7 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จำนวน 2 หน่วยงาน โดยมีการตอบกลับทั้ง 2 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีนี้หน่วยงานมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจอย่างดียิ่ง
ผลสำรวจพบว่า หน่วยงานระดับกรมมีคะแนนที่โดดเด่นในตัวชี้วัดด้านการบริการ และโครงสร้างพื้นฐานโดยเปรียบเทียบระหว่างหน่วยงานในระดับเดียวกัน ซึ่งมีความสอดคล้องกันในมุมของการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อตอบสนองต่อการบริการที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลมากขึ้น ตัวชี้วัดที่โดดเด่นรองลงมาคือระบบการทำงานภายใน ที่ต้องรองรับการให้บริการในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ด้านศักยภาพของบุคลากร และด้านการปรับใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานระดับกรมเป็นตัวชี้วัดที่โดดเด่นน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดอื่น โดยความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลอาจมีส่วนในการทำให้การปรับใช้เทคโนโลยีภายในองค์กรมีความโดดเด่นน้อยตามลงมา ทั้งนี้ หน่วยงานในระดับกรมโดยรวมมีการจัดทำแผน และการดำเนินการที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด มีความโดดเด่นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดอื่น เนื่องจากมีการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานของกรมมาช่วยสนับสนุนในการดำเนินงาน ด้านศักยภาพของบุคลากรของหน่วยงานระดับจังหวัดอยู่ในระดับที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดอื่น รองลงมา คือ ด้านการบริการของหน่วยงานระดับจังหวัด เนื่องจากส่วนมากหน่วยงานพึ่งบริการของกรมเป็นหลัก สำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานจังหวัดมีความโดดเด่นน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดอื่น เนื่องจากหน่วยงานจังหวัดมีการปรับใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ หน่วยงานระดับจังหวัดมีการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายของกรมเป็นหลัก ทำให้ด้านแผนและการดำเนินการมีระดับความโดดเด่นที่ใกล้เคียงกับกรม
สำหรับการมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2563 หน่วยงานระดับกรมที่ได้รับโล่รางวัลรัฐบาลดิจิทัลจำนวน 10 รางวัล ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรมสรรพากร
ประกาศนียบัตรระดับจังหวัด 5 รางวัล ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ระนอง ลพบุรี ลำพูน และสระบุรี
นอกจากนี้ยังมี รางวัลเฉพาะด้านประจำปี : รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
รางวัลเฉพาะด้านประจำปี : รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Data.go.th) จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการขนส่งทางบก
รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 2020 1 รางวัล ได้แก่ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ: รายละเอียดผลสำรวจสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th
รางวัลรัฐบาลดิจิทัล 2563 หน่วยงานระดับกรม
อันดับ 1 หน่วยงาน การไฟฟ้านครหลวง
อันดับ 2 หน่วยงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
อันดับ 3 หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อันดับ 4 หน่วยงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
อันดับ5 หน่วยงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
อันดับ 6 หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
อันดับ 7 หน่วยงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อันดับ 8 หน่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
อันดับ 9 หน่วยงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
อันดับ 10 หน่วยงานกรมสรรพากร
รางวัลรัฐบาลดิจิทัล 2563 หน่วยงานระดับจังหวัด
อันดับ 1 หน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่
อันดับ 2 หน่วยงานจังหวัดสระบุรี
อันดับ 3 หน่วยงานจังหวัดลำพูน
อันดับ 4 หน่วยงานจังหวัดระนอง
อันดับ 5 หน่วยงานจังหวัดลพบุรี
รางวัลเฉพาะด้านประจำปี : รางวัลการสนับสนุนการดำเนินการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance)
อันดับ 1 หน่วยงานกรมสรรพากร
อันดับ 2 หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อันดับ 3 หน่วยงานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
รางวัลเฉพาะด้านประจำปี : รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูล (Open Government data)
อันดับ 1 หน่วยงานกรมธุรกิจพลังงาน
อันดับ 2 หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อันดับ 3 หน่วยงานกรมการค้าต่างประเทศ
อันดับ 4 หน่วยงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม
อับดับ 5 หน่วยงานกรมการขนส่งทางบก
รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 2020 หน่วยงานระดับกรม 1 รางวัล
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล – เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก