‘หมอ-นักวิชาการ’ ผนึกกำลังต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เร่งให้ความรู้พ่อแม่-ผู้ปกครอง-ครู ตระหนักถึงพิษภัยร้ายแรง และรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาด หลังบริษัทผู้ผลิตพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ มุ่งเจาะกลุ่มเด็ก-เยาวชนโดยเฉพาะ

โครงการ “การสื่อสารเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงประเด็น” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 1 ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “รู้ทันบุหรี่ไฟฟ้า ภัยร้ายใกล้ตัวเด็กและเยาวชน” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรม Courtyard by Marriott Bangkok โดยการจัดเสวนาดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนในปัจจุบัน รวมทั้ง รู้ทันกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำมาใช้ในการชักจูงเด็กและเยาวชน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุ ในปี 2557 ซึ่งประเทศไทยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะนั้นมี 13 ประเทศทั่วโลกประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันนานาประเทศทยอยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือน พ.ค.2568 พบว่ามี 46 ประเทศ ประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เหตุผลหลักเป็นเพราะเกิดการระบาดในเด็กและเยาวชน จากการออกแบบอุปกรณ์สูบ การเติมรสชาตินับพันรส และการตลาดที่พุ่งเป้าเด็กเยาวชน เกินความสามารถในการควบคุม
ส่วนในประเทศไทยพบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี 2567 มีจำนวน 900,459 คน คิดเป็น 1.52% จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดที่มีจำนวน 9.7 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2557 ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 48,336 คน หรือ 0.10%

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นวิธีการใหม่ในการนำสารเสพติดนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายอย่างมากต่อสมองของเด็กวัยรุ่นในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ โดยวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มวนและใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆตามมา
“วัยรุ่นไทย 7 ใน 10 คนที่ติดบุหรี่มวนไม่สามารถเลิกสูบไปตลอดชีวิต เพราะเสพติดนิโคติน ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าส่อว่าจะเสพติดหนักหน่วง และเลิกยากยิ่งกว่าบุหรี่มวน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยกลุ่มเยาวชนถือเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทผู้ผลิต เห็นได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ ‘ทอยพอด’ ที่มีความหลากหลาย มีสีสันสวยงาม ใช้งานง่าย เช่น รูปตุ๊กตา ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและเยาวชน
ล่าสุด บริษัทผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ ‘พอดจมูก’ หรือ Nose pod ซึ่งมีลักษณะคล้ายยาดม โดยทอยพอดและพอดจมูก จะมีขนาดเล็กสีสันสวยงามใช้งานง่ายเหมาะสำหรับนักสูบมือใหม่แยกไม่ออกว่าเป็นของเล่นจริงหรือบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีกลิ่นหอมหลากหลายชนิด เยาวชนจำนวนมากจึงเข้าใจผิดว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ทอยพอดถูกออกแบบมาให้สูบทางจมูกแทนการสูบทางปาก แม้ควันจะเบาบางไม่เหมือนบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป แต่ยังคงมีสารนิโคตินและสารเคมีอื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบสมอง และมีผลต่อพัฒนาการของเยาวชน
ผู้ปกครอง ครู และสื่อมวลชน ควรร่วมกันเฝ้าระวังและให้ความรู้แก่เยาวชนถึงอันตรายที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งทอยพอดและพอดจมูก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบในคราบของเล่นที่ดึงดูดกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ (หมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ) ระบุ บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มวน โดยมีนิโคตินสูงมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมอง โดยเฉพาะสมองของเด็กที่ยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและการเรียนรู้อย่างมาก
นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีความสะดวกในการใช้งานเพราะไม่ต้องใช้ไฟ พกพาได้ง่าย และรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ายังถูกออกแบบ ให้มีความน่ารักสวยงามมีรสชาติหอมหวานดูไม่เป็นพิษภัย แต่การสูบแต่ละครั้งอาจได้ปริมาณนิโคตินมากกว่าการสูบบุหรี่ปกติ
พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูและผู้ใหญ่ในสังคมต้องสอดส่องดูแลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้มาก โดยให้ความรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ต้องทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงการตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้

คุณยศวดี ดิสสระ ผู้แทนเยาวชนในนามเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ ระบุ ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่เรื่อง การขาดความรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงตัวเยาวชน แต่ยังรวมถึงครอบครัว โรงเรียน และผู้ใหญ่รอบตัว โดยยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าบุหรี่ไฟฟ้าคือผลิตภัณฑ์อันตราย ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่แฟชั่น และไม่ใช่สิ่งที่ไม่เป็นไรตามที่ใครหลายคนเข้าใจ
“ทุกท่านทราบไหมว่า เด็กประถมรู้จักบุหรี่ไฟฟ้ากันหมดแล้ว?”คำถามนี้อาจฟังดูเกินจริง แต่ในฐานะคนทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและสื่อสารสุขภาวะ คำตอบที่ได้รับกลับมานั้นน่าตกใจยิ่งกว่า ซึ่งจากการไปทำกิจกรรมในโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อถามนักเรียนชั้นประถมพบว่าทุกคนเคยได้ยินคำว่าบุหรี่ไฟฟ้า และเด็กมากกว่า 70% บอกว่าเคยลองบุหรี่ไฟฟ้า และมีเด็กบางคนบอกชัดเจนโดยไม่มีความลังเลว่า “ที่บ้านก็ใช้และขายด้วย”

ส่วนการลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ พบกรณีครูยึดบุหรี่ไฟฟ้าจากนักเรียน แต่กลับถูกผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นของที่ซื้อให้ลูกเองในราคาสูง โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย ไม่เสพติด และเป็นเพียงสินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่งเท่านั้น

“จากการลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ เราเห็นภาพร่วมกันชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ทุกที่ในสังคม แต่การรู้เท่าทันนั้นยังมีอยู่เฉพาะบางที่และบางคน”
More Stories
PFP เปิดเกมรุกตลาดสัตว์เลี้ยง เปิดตัว “Ari Ari Pet Food” ขนมสัตว์เลี้ยงจากวัตถุดิบทะเลคุณภาพ ในงาน Petopia Hatyai 2025
บริษัท ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) คว้ารางวัลเกียรติยศในงาน Asia Employee Experience Awards 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หัวข้อ “เคียงข้างผู้ประกอบการ สร้างอนาคตยั่งยืน” ศุกร์ที่ 18 ก.ค. 68