November 25, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระดมความเห็นแนวทางพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรม เป้าหมาย ชี้เตรียมพร้อมสำหรับลงทุนหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

กองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกหน่วยงานภาครัฐ – เอกชนที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ตามนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ในโครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) โดยมีที่ปรึกษาบริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) ในพื้นที่ 5 จังหวัด 8 เขตประกอบการอุตสาหกรรมนำร่อง พร้อมมุ่งเดินหน้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ประกอบกับนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค นโยบาย อก. ด้านการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ (Investment Promotion) เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย โดยได้ริเริ่มจัดทำโครงการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้ามหาย และเขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมไทย ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

This image has an empty alt attribute; its file name is 01-2.jpg

นายวิษณุ อิสระธานันท์ ประธานโครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ในการศึกษา “โครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) ในพื้นที่ 5 จังหวัดเป้าหมาย 8 เขตประกอบการอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  1. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง
  2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง
  3. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  4. เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  5. เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซัมมิท จังหวัดสมุทรปราการ
  6. เขตประกอบการอุตสาหกรรม แอล พีเอ็น จังหวัดสมุทรปราการ
  7. เขตประกอบการอุตสาหกรรมซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา
  8. เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี
This image has an empty alt attribute; its file name is 03-3.jpg

เพื่อศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของเขตประกอบการอุตสาหกรรม ในการที่จะขยายพื้นที่เพิ่มเติม หรือการขยายประเภทอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อันสอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การยืนยันแนวเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามที่ได้รับการประกาศ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งโรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถใช้เป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

This image has an empty alt attribute; its file name is 05-1.jpg
This image has an empty alt attribute; its file name is 04-2.jpg

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมมุ่งพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ ผนึกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายรากฐานวิถีชีวิตของชุมชน

สอบถามรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.diw.go.th หรือโทร. 02-202-4000