March 28, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผลักดันเศรษฐกิจ BCG Model นำร่อง 14 จังหวัดภาคใต้ หวังเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการอย่างน้อย 10%

กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำ BCG Model เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำร่อง 14 จังหวัดภาคใต้ ปั้นผู้ประกอบการ 25 ราย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 10% พร้อมการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดของเสียได้เป็นจำนวนมาก

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเปิดงานเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “BCG นำเศรษฐกิจไทยก้าวไกล” ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ BCG Model       หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) , เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว  (Green Economy) ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้นำนโยบายการพัฒนา  BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบแนวคิด BCG” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่า   เพิ่มผ่านการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะมุ่งเน้นการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเกิดประสิทธิผล

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำแนวทาง BCG Model เข้าไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม กับศักยภาพของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มสูงสุด ลดการเกิดเศษวัสดุเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างความสมดุลกับชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตไปพร้อมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

“ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีความเหมาะสมในการนำแนวทาง BCG Model เช้าไปประยุกต์ใช้ เพราะมีจุดเด่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภาคการผลิตแปรรูปที่เข้มแข็ง และศักยภาพเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้อย่างสะดวก จึงได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่นำแนงทางเศรษฐกิจ BCG ไปใช้ให้เกิดผลสูงสุด”

ด้าน นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการเพิ่ม  ขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ SME ตามกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ถือเป็นหนึ่งในโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามแนวนโยบายการพัฒนา BCG Model เพื่อพัฒนาสถานประกอบการ SME ในการลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนา ส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบ SME ในโครงการ จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดทำกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 33 ราย สมัครคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการและมีจำนวน 25 รายที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 32  ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 และด้านเศรษฐกิจสีเขียว จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 40

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า จากกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก พบว่าผลการดำเนินการให้เกิดประสิทธิผลในด้านต่างๆ โดยได้ร่วมกับผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์แบบ (Phototype) เพื่อเตรียมความพร้อม หรือประยุกต์ใช้แนวการพัฒนา BCG Model อย่างหลากหลาย แบ่งออกเป็น 1. ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 8 ราย โดยในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุชีวภาพจากสถานประกอบการ  เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

2. ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ 3R ในกระบวนการผลิต ได้แก่ รียูส (Reuse) รีดิวส์ (Reduce) และรีไซเคิล (Recycle) มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7 ราย และ  3. ด้านเศรษฐกิจสีเขียว กรีน อีโคโนมี (Green Economy) จะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการลดการใช้ทรัพยากร โดยมีการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน  และการจัดการพลังงานด้วยมอนิเตอร์ริ่ง ซีสเต็ม (Monitoring System) มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 10 ราย

สำหรับผลที่ได้จากการดำเนินงานในครั้งนี้ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 10 %    โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล Best Practices ได้แก่ บริษัท เด็กพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธีธนโชติ เกษตรภัณฑ์, บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด, บริษัท ภัทร ปาล์มออยล์ จำกัด และนับได้ว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของสำนักงานอุตสากรรมจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ในการส่งเสริม พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตามแนวนโยบายของรัฐบาลให้ก้าวไกล มั่งคั่ง และมั่นคงต่อไป

You may have missed