สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ประกาศก้าวสู่ปีที่ 5 อย่างมั่นคง ย้ำจุดยืนดันงานฝีมือคนไทยสู่เวทีสากล สานต่อบทบาท “นักปั้นดาวแห่งวงการงานหัตถศิลป์ไทย” ที่ส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา นำงานศิลปหัตถกรรมสร้างชื่อในเวทีสากล ควบคู่ผลักดันช่องทางตลาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หวังสร้างความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT โดยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ “ทำให้ประชาชนมีความสุข” โดยร่วมผลักดันนโยบาย Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ที่นำเอาเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมมรดกของชาติ มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทย และสนับสนุนให้คนไทยร่วมซื้อร่วมใช้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเล็งเห็นว่า สอดคล้องกับภารกิจของ SACIT ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของช่างฝีมือไทย ตลอดจนยังเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อองค์ความรู้ และคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรม ให้ได้เป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ
โดยกระทรวงพาณิชย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า SACIT จะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรม สนับสนุนโอกาสทางการตลาดให้แก่ช่างฝีมือไทย ตลอดจนสิบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย ควบคู่สร้างการรับรู้ และส่งต่อคุณค่าแห่งงานหัตถกรรมที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศให้ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ เพื่อให้ภูมิปัญญาไทยกลายเป็นอีกหนึ่งเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา SACIT มุ่งขับเคลื่อนภารกิจงานภายใต้วิสัยทัศน์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม งานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงานเชิงรุกเพื่อการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การดำเนินงาน 4 มิติ ได้แก่ การสืบสาน รักษางานหัตถศิลป์ที่คิดถึง หรือหัตถกรรมใกล้สูญหาย การมุ่งเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การยกระดับงานคราฟต์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร และการสร้างองค์กรแห่งความสุข ตลอดจน ในปี 2568 นี้ SACIT ยังได้มีการปรับเปลี่ยนระบบอัตลักษณ์องค์กรใหม่ โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็น “นักปั้นดาวแห่งหัตถศิลป์ไทยเชื่อมความงามไกลสู่สากล : Nurturing Thai Crafts to Global Trends และมาพร้อมกับ โลโก้ใหม่ “ดาวแปดแฉก” ที่แสดงให้เห็นถึงการส่องประกายของดวงดาว ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์แทนการขับเคลื่อนภารกิจงานของ SACIT เพื่อส่งต่อคุณค่าความงดงามของงานหัตถศิลป์ และผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการดำเนินการในบริบทต่าง ๆ เช่น การส่งเสริม Up Skill Re Skill แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ร่วมสมัย สอดรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ รวมทั้ง ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งใน และต่างประเทศ อาทิ การเปิดพื้นที่จัดจำหน่ายในงาน Crafts Bangkok 2025 ที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าเป็นงานสำคัญของ SACIT ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ หรือจะเป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน London Craft Week งาน Tout à fait Thai ณ กรุงปารีส งาน INDEX Dubai ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในการได้แสดงศักยภาพของงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

“การเป็นนักปั้น นับว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายของ SACIT เพราะไม่ใช่แค่เฟ้นหาดาวดวงใหม่ แต่คงยังต้องทำหน้าที่เป็นสะพานส่งต่อความงดงามและเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิปัญญาอันล้ำค่าไม่สูญหายไป อีกทั้งยังเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้แก่วงการงานศิลปหัตถกรรม”


นอกจากนี้ SACIT ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการส่งเสริมใน 3 มิติหลัก ๆ ประกอบด้วย มิติทางวัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนผ่านภารกิจสำคัญเพื่อให้เกิดการสืบสาน สืบทอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยไม่ว่าจะเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมรุ่นใหม่ (New Young Craft) หรือแม้แต่การสนับสนุนให้เกิดเป็นชุมชนหัตถกรรม เพื่อให้งานหัตถกรรมไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมไทย มิติทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพ โดยใช้ภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งส่งเสริมสร้างอาชีพจากงานศิลปหัตถกรรมให้แก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ มิติทางสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการผลักดันงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเทรนด์โลก จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่รักษ์โลกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับเป้าหมายการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยที่ยั่งยืน SACIT ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนา “คน” ผ่านการฝึกอบรม และรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพ ด้านการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ วางรากฐานที่แข็งแรงสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับทักษะความรู้ของช่างศิลปหัตถกรรมในแขนงต่าง ๆ อันจะนำมาสู่การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด
More Stories
“สอน.” จับมือ “ไทยคม” เปิดตัว แพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) และ AI หวังต่อยอด ขยายผลลดมลภาวะทางอากาศ และค่าฝุ่น PM 2.5
พม. จัดพิธีประทานรางวัล “ประชาบดี” ประจำปี 2568 ยกย่องต้นแบบพัฒนาสังคม ช่วยผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก
เปิดแล้ว! “SME Privilege Fair” ในงาน OTOP ทั่วไทย & SMEs ร่วมใจสู่เมืองสงขลา