
(15 พฤษภาคม 2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดตัวโครงการการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Technology Needs Assessment: TNA) ฉบับที่ 2 อย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของ TNA ในการเป็นกลไกพัฒนาและคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมเชื่อมโยงกับการสนับสนุนจากนานาชาติทั้งด้านองค์ความรู้และแหล่งทุน
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย โครงการ TNA จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และเชื่อมโยงกับแหล่งทุนระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และนำไปสู่เป้าหมายของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608” นางสาวศุภมาส กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของกระทรวง อว. ในการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ พลังงาน การเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. และผู้ประสานงานโครงการ TNA ของประเทศไทย ยังได้บรรยายสรุปภาพรวมของโครงการ โดยชี้ให้เห็นว่า TNA เป็นเครื่องมือสำคัญในการระบุความต้องการเทคโนโลยีเฉพาะด้านของประเทศไทย ทั้งการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างประเทศ


“โครงการ TNA เป็นกลไกที่ดำเนินภายใต้การสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ UNEP Copenhagen Climate Centre (UNEP-CCC) เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ระบุและจัดลำดับเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยดำเนินโครงการ TNA ฉบับที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2555 และในฉบับที่ 2 นี้ จะเป็นการต่อยอดเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนากลยุทธ์และแผนงานที่เข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.สุรชัย กล่าว

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานในครั้งนี้ คือการบรรยายพิเศษหัวข้อ “TNA as a Catalyst: Unlocking Capital for Climate Technology” โดย Sara Traerup, Section Head, Technology – Transitions and System Innovation, UNEP-CCC และเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” โดยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน


สำหรับโครงการ TNA ของประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากฉบับแรกที่จัดทำแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555 และได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าประสบความสำเร็จในการบูรณาการผลการประเมินเทคโนโลยีเข้าสู่แผนนโยบายระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในปัจจุบันประเทศไทยได้รับทุนสนับสนุนจาก Global Environment Facility (GEF) ในการดำเนินการ TNA ฉบับที่ 2 ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์ระดับประเทศและโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนระยะยาว


TNA ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีเจรจาระดับนานาชาติ เช่น การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) ซึ่งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ โครงการ TNA ฉบับที่ 2 นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
More Stories
PFP เปิดเกมรุกตลาดสัตว์เลี้ยง เปิดตัว “Ari Ari Pet Food” ขนมสัตว์เลี้ยงจากวัตถุดิบทะเลคุณภาพ ในงาน Petopia Hatyai 2025
บริษัท ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) คว้ารางวัลเกียรติยศในงาน Asia Employee Experience Awards 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หัวข้อ “เคียงข้างผู้ประกอบการ สร้างอนาคตยั่งยืน” ศุกร์ที่ 18 ก.ค. 68