สภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข ชูธงกระจายอำนาจ หนุนจังหวัดจัดการตนเอง ห่วงเงินดิจิทัลต้องศึกษาให้รอบด้าน ค้านขยายเวลาเปิดผับบาร์ ท้ารัฐสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยว ขยายเวลาเปิดผับบาร์จูงใจเที่ยวไทยจริงหรือ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสานพลังสภาองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมสู่การจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะภาคใต้แห่งความสุข เพื่อแลกเปลี่ยนต่อสถานการณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายสาธารณะที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน
นายไมตรี จงไกรจักร ที่ปรึกษาสภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข กล่าวว่าสภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข คือการรวมตัวกันของภาคประชาชน องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่กลางที่ให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง เพื่อให้ประชาชนภาคใต้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยในเวทีสานพลังสภาองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมสู่การจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะภาคใต้แห่งความสุขในครั้งนี้ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายประเด็น อาทิ โรงไฟฟ้านาบอน นิคมอุตสาหกรรมจะนะ แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง คาร์บอนเครดิต ประมงพื้นบ้าน เหมืองเร่-เหมืองหิน ภัยพิบัติ ชาติพันธุ์ สันติภาพชายแดนใต้ที่กินได้ การแจกเงินดิจิทัล รวมถึงประเด็นที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนทั้งกัญชา กระท่อม สุราเสรี และการขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move
“ข้อเสนอหลักที่ได้จากเวทีคือ ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจสู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเอง เพราะเชื่อว่าประชาชนแต่ละพื้นที่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาสำหรับพื้นที่ของตัวเอง ร่วมกับภาครัฐได้มากกว่าการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง การกระจายอำนาจสู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเองจึงเป็นเป้าหมายหลักที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพวกเราเห็นว่ามีสองนโยบายที่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องทบทวนโดยด่วน คือนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะต้องศึกษาถึงผลดี ผลเสีย วิธีการแจก ที่มาของเงินอย่างรอบด้านก่อนจะดำเนินการ และอีกเรื่องคือนโยบายการขยายเวลาเปิดผับบาร์ ที่รัฐบาลมีความพยายามจะทำ ซึ่งในเรื่องนี้สภาประชาชนภาคใต้แห่งความสุข เห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย และอยากให้รัฐบาลสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวในทุกสนามบินว่า เป้าหมายของการมาท่องเที่ยวในประเทศไทยคืออะไร ใช่การมาเพื่อกินดื่มเป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ ที่ประชุมฯจึงมีมติคัดค้านต่อเรื่องนี้ เราอยากเห็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ขอความเห็นชอบของคนในพื้นที่ เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาคือคนที่รับผลกระทบโดยตรง แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์บ้างก็ตาม” นายไมตรี กล่าว
More Stories
ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง รายงานผล 1 ปีคืบหน้า ESG Symposiumเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับตัวกู้วิกฤตโลกเดือด เพิ่มโอกาส SMEs
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยความสำเร็จการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง พร้อมเปิดตัว “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3
เอสซีจี รับรางวัล “ธุรกิจสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งปี” จากงาน DAILYNEWS TOP CEO 2024 ติดสปีดนวัตกรรมสายกรีน รุกสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ