
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Anti-Corruption Network: SEA-ACN) ของกลุ่ม Open Data ได้จัดการประชุมโต๊ะกลมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “การประสานมาตรฐานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในอาเซียน (ไทยและมาเลเซีย)” โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับนิยามของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (Politically Exposed Persons: PEPs) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริตและการฟอกเงิน อีกทั้งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการต่อต้านการฟอกเงินและคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค
SEA-ACN เป็นเครือข่ายที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านความร่วมมือของภาคสังคม โดยให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลัก ได้แก่
- ข้อมูลเปิด (Open Data)
- การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement)
- การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Protection)
- การยึดหลักคุณธรรมในภาคธุรกิจ (Business Integrity)
ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่ม Open Data ของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (SEA-ACN) ซึ่งประกอบด้วย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (Knowledge Hub for Regional Anti-Corruption Collaboration and Good Governance Promotion: KRAC), Sinar Project (ประเทศมาเลเซีย), บริษัท วีวิซ เดโม จำกัด และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้ร่วมกันศึกษาการกำหนดนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเป็นกรณีศึกษา
สำหรับการประชุมโต๊ะกลมออนไลน์ในครั้งนี้ได้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- การนำเสนอผลการศึกษา
ในหัวข้อ “การประสานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์กร ได้แก่
- คุณ Kharil Yusof ผู้ประสานงานจากองค์กร Sinar Project ประเทศมาเลเซีย
- คุณวิถี ภูษิตาศัย ผู้ร่วมก่อตั้งและ Technical Lead จากบริษัท วีวิซ เดโม จำกัด
- คุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของศูนย์ KRAC
- การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ได้แก่
- คุณ Pushpan Murugiah ผู้บริหารองค์กร Centre to Combat Corruption and Cronyism (C4 Centre)
- คุณ Ato ‘Lekinawa’ Costa ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งติมอร์-เลสเต
- คุณกิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
รวมถึงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานต่างชาติ ได้แก่ Politics for Tomorrow | Open Gov Network Germany (OGP)

ประเด็นสำคัญจากการเสวนา
- ณัฐภัทร เนียวกุล นำเสนอเรื่อง “การนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (Definition of PEPs)” โดยกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างนิยามร่วมในภูมิภาคตามมาตรฐานของ Financial Action Task Force (FATF) เนื่องจากพบว่า นิยามของ PEPs ในแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน เช่น ประเทศไทยแบ่ง PEPs ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ขณะที่ประเทศมาเลเซียใช้เกณฑ์ FATF โดยตรง จึงควรมีมาตรฐานกลางเพื่อให้การตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความแม่นยำ
- วิถี ภูษิตาศัย นำเสนอเรื่อง “ความสำคัญของ Data Standard ที่เชื่อมโยงกับ PEPs” โดยยกตัวอย่างการนำมาตรฐานข้อมูล Popolo มาพัฒนาแพลตฟอร์ม Parliament Watch เพื่อจัดระเบียบข้อมูลนักการเมืองไทยให้ตรวจสอบได้ง่ายและรองรับหลายภาษา
- Kharil Yusof นำเสนอเรื่อง “ความร่วมมือระหว่างองค์กรในการกำหนดมาตรฐานข้อมูล PEPs” โดยแบ่งปันประสบการณ์ของ Sinar Project ประเทศมาเลเซีย ในการใช้มาตรฐานข้อมูลเดียวกันกับองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศเมียนมา เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบความเชื่อมโยง และแสดงผลในรูปแบบกราฟเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายหลังการบรรยาย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็น เช่น
- คุณ Ato ‘Lekinawa’ Costa มองว่างานศึกษานี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ยังมีข้อจำกัดด้านภาษา เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
- คุณกิตติเดช ฉันทังกูล สะท้อนว่า ฐานข้อมูล PEPs ในประเทศไทยเข้าถึงได้เฉพาะสถาบันการเงิน ทำให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนตรวจสอบได้ยาก พร้อมเสนอให้เปิดกว้างมากขึ้น และควรพิจารณากฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) ควบคู่กัน รวมถึงเสนอให้รวมตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจไว้ในนิยาม PEPs ด้วย
ก้าวต่อไปของ SEA-ACN จะเดินหน้าผลักดันการประสานมาตรฐานคำนิยาม PEPs ไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้ข้อมูลเปิดเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริต โดยมีแผนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งถัดไป มุ่งเน้นประเด็น ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในภูมิภาคเอเชีย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เพจ KRAC Corruption
More Stories
คณะผู้บริหารจาก UNDP นำโดย Ms. Niamh Collier Smith เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการ คปภ. เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง Resident Representative ในประเทศไทย
“พาณิชย์” ประกาศรางวัล Agri Plus Award 2025 มุ่งต่อยอดเกษตรนวัตกรรมไทย ดัน SMEs สู่ตลาดโลก
“อรนุช” ร้านอาหารไทยแบบ Home-style ที่มีความประณีตระดับพรีเมียม รสชาติความอร่อย จากการชิมมาทั้งชีวิตเชิญ 2 เซเลบริตี้คนดังร่วมท้าพิสูจน์ความอร่อย