มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว “เดินหน้าประเทศไทย สู่การป้องกันโรค IPD” รณรงค์ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส สาเหตุสำคัญก่อให้เกิดโรคไอพีดี (IPD) และเรียนรู้การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคอย่างถูกวิธี พร้อมสานต่อโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงปีที่ 7 เพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีน IPD กันถ้วนหน้า
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันปอดอักเสบโลก หรือ World Pneumonia Day เพื่อสร้างความตระหนัก และความสำคัญ พร้อมร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึก เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบแก่ประชาชนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูงสุดโรคหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 672,000 คน1 และในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนนับล้านเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น และโรค Invasive Pneumococcal Disease (IPD) ก็เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบ และหลาย ๆ คนอาจไม่ทราบว่าโรค IPD ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็กเล็กที่อายุ ต่ำกว่า 5 ปีด้วย2 ดังนั้นการสร้างการตระหนักรู้ในโรคนี้ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการและปฏิคมสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน เปิดเผยว่า “โรค IPD คือ โรคติดเชื้อชนิดลุกลามที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส หรือ Streptococcus pneumoniae” โดยทั่วไปแล้ว เชื้อชนิดนี้ มักอาศัยอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยยังไม่ก่อโรค แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีการติดเชื้อไวรัส เชื้อชนิดนี้ก็จะรุกรานไปอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง โดยอาการของการติดเชื้อ IPD มีได้หลายอย่างขึ้นกับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อก และอาจเสียชีวิตได้3 โรค IPD มักมีความรุนแรงสูงแตกต่างจากโรคหวัดทั่วไป เด็ก ๆ ที่ป่วยเป็นโรค IPD มักจำเป็นต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานโดยเฉลี่ยแล้วนานถึง 12 วัน4 และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งโดยเฉลี่ย มากกว่า 50,000 บาท แม้จะรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐก็ตาม5 นอกจากนี้เด็กที่หายป่วยจากโรค IPD บางคนอาจมีผลกระทบระยะยาว เช่น สูญเสียการได้ยิน พิการทางสมอง การเคลื่อนไหวผิดปกติ และมีอาการชัก6 จะเห็นได้ว่าโรค IPD ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กเท่านั้น แต่ยังทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้จาก ค่ารักษาพยาบาล และขาดรายได้เนื่องจากจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูก ดังนั้นหากลูกหลานมีอาการใกล้เคียงกับโรค IPD ควรรีบได้รับการวินิจฉัย และรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและโอกาสการเกิดผลกระทบระยะยาว นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกหลายชนิดแม้ไม่รุนแรง แต่ก็พบได้บ่อย เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค IPD จากการซักประวัติ จากอาการ และการตรวจร่างกายผู้ป่วย เช่น การเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะ หรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าอาการของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเมื่อตรวจพบเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแล้ว แพทย์จะทำการให้ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะในขนาดที่เหมาะสมกับโรคและอาการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็พบว่าในประเทศไทยเชื้อนิวโมคอคคัส มีอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกวิธี ทำให้พบปัญหาเชื้อดื้อยามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กระบวนการการรักษามีความซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น นับได้ว่าสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ และกำลังของประเทศเป็นอย่างมาก จึงเป็นหน้าที่ของทุก ๆ ฝ่ายในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันเพื่อให้จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง ดังนั้นการป้องกันโรค IPD ด้วยการฉีดวัคซีนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐก็พร้อมที่จะช่วยกันผลักดันวัคซีน IPD เข้าสู่แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ประชาชนเองก็สามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรค IPD อาทิ หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นและรักษาระยะห่าง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ปรึกษาแพทย์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม”
ด้าน ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า “โรค IPD มักพบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีที่สุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ยังพบบ่อยในเด็กที่มีโรคประจำตัวโดยไม่ขึ้นกับอายุ เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากสาเหตุต่าง ๆ ภาวะไม่มีม้ามหรือการทำงานของม้ามบกพร่อง โรคเรื้อรังของอวัยวะต่าง ๆ เช่น โรคปอด (รวมทั้งหอบหืดรุนแรง) โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น น้ำในกระดูกไขสันหลังรั่ว ใส่ชุดประสาทหูเทียม จากข้อมูลอัตราการเกิดโรค IPD จะเห็นว่า เด็กที่เป็น IPD มีภาวะเสี่ยงเหล่านี้เพียงประมาณ 1/3 เท่านั้น อีก 2/3 เป็นเด็กเล็กที่ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงอื่นใด นอกจากอายุน้อย โดยเฉพาะที่น้อยกว่า 1 ปี เพราะ IPD เป็นโรคของเด็กเล็กเป็นหลักนอกจากนี้ ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 65 ปี ก็นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ และโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน IPD ให้กับเด็ก โดยในเด็กทารกเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน7 วัคซีน IPD ที่ใช้ในปัจจุบันมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสามารถในการครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อ IPD ที่แตกต่างกันออกไป วัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคในประเทศไทยได้มากกว่าจะป้องกันโรคได้กว้างกว่า วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันทุกชนิดสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรค IPD ของสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนได้ดีมาก8 และเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างบรรจุวัคซีน IPD อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ในประเทศเหล่านั้นเข้าถึงวัคซีนกันอย่างทั่วหน้า และการที่เด็ก ๆ เข้าถึงวัคซีนได้มากกว่า 70% จะส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจะสามารถได้รับภูมิคุ้มกันทางอ้อมไปด้วย ก็จะส่งผลให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังซึ่งเป็นสมาชิกร่วมบ้านกับเด็กเล็ก และเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรค IPD เช่นกัน ได้รับการป้องกันไปด้วย ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยแล้วพบว่าการบรรจุวัคซีน IPD เข้าสู่แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะมีความคุ้มค่าอย่างมาก ช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐในการรักษาได้เป็นอย่างดี ในขณะนี้ประเทศไทย มีเด็กไทยเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่เข้าถึงวัคซีน IPD เนื่องจากยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งหมายถึงรัฐยังไม่ได้ให้ฟรี ยังคงเป็นวัคซีนที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องเสียเงินซื้อเองอยู่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยเข้าถึงวัคซีน IPD กันมากขึ้นซึ่ง ณ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ได้มีโครงการฉีดวัคซีน IPD นำร่องที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่วัคซีน IPD จะบรรจุอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้เด็กไทยทั่วประเทศ เด็ก ๆ ในจังหวัดมหาสารคามสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ฟรีก่อนจังหวัดอื่น นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร กำลังดำเนินโครงการให้วัคซีน IPD แก่เด็กในกรุงเทพมหานครแล้ว ที่จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน หรือทำให้เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนจำเป็นตัวนี้โดยเร็วที่สุดได้เช่นกัน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาซื้อวัคซีน IPD ให้เด็ก ๆ ในเขตปกครองของตนเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และดังเช่นในวันนี้ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ก็ได้จัดทำโครงการที่สำคัญนี้โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากไฟเซอร์ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อ IPD ได้เข้าถึงวัคซีน และได้รับการป้องกันมากขึ้น”
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้ารณรงค์ และให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค และลดการเสียชีวิตจากโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับในปีนี้ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เด็กกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคมะเร็ง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด เด็กที่ไม่มีม้าม เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ IPD มากกว่าในเด็กปกติหลายเท่า อีกทั้งมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้มาก หากเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับวัคซีนก็จะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วย ลดค่ารักษาพยาบาล ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทย โดยเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และสมควรได้รับการป้องกันเป็นอันดับแรก นอกจากนี้มูลนิธิฯ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพ และเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังทำงานไม่สมบูรณ์ และมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ โดยในปีนี้เราได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี 13 สายพันธุ์ เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวน 3,000 โด๊ส แก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 35 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันได้เพิ่มขึ้น และทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งมีเด็กในกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD มากกว่าหลายพันคนที่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไปแล้วภายใต้โครงการฯ นี้”
เอกสารอ้างอิง:
- World Pneumonia Day 2022. Access 10 Nov 2022. https://stoppneumonia.org/
- Isaacman DJ et al. International Journal of Infectious Disease. 2010;14:e197-e209
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. โรคไอพีดี (IPD). Access 10 Nov 2022. https://www.pidst.or.th/A744.html
- Baldo V et al. Prev Med Rep. 2015;2:27–31.
- Dilokthornsakul P et al. Vaccine. 2019;37:4551-4560.
- World Health Organization. Pneumococcal vaccines WHO position paper—2012. Wkly Epidemiol Rec. 2012;87(14):129-144.
- ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2565. Access 10 Nov 2022. https://www.pidst.or.th/A1150.html
- Moore MR, et al. Lancet Infect Dis. 2015;15(3):301-309
More Stories
Repêchage® เปิดตัวทรีทเม้นท์ใหม่ล่าสุด Professional T-Zone Balance Classic Facial
“โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์” จับมือ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ” บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วย
จัดฟันที่ไหนดี? คลินิกทันตกรรมย่านลาดพร้าว ยอดฮิตในปี 2567