
ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะ วอนรัฐลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี จากการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากผู้โดยสารลดลง แต่ต้นทุนคงที่

นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย พร้อมผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน รถแท็กซี่ และกลุ่มรถสาธารณะอื่นๆ หลายสิบราย เปิดเผยถึงผลกระทบการระบาดโควิด 19 ในครั้งแรกว่า ในครั้งที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งการระบาดรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด ประกอบด้วย รถโดยสาร รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และ รถสองแถว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ โดยเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และหลังจากนั้นได้มีการขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการลดราคาขายปลีก NGV ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะยังต้องใช้อีกหลายวิธีในการแก้ปัญหาเพื่อให้กิจการอยู่รอด เช่น การขอพักชำระหนี้สถาบันการเงิน การขอผัดผ่อนหนี้ค่าอะไหล่ การลดวันทำงานของพนักงานลงโดยที่พนักงานได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม และ การขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเสริมสภาพคล่องของกิจการและชะลอการเลิกจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่การระบาดได้ทุเลาลงและประชาชนเริ่มมีการเดินทางมากขึ้น กิจการรถโดยสารสาธารณะก็ยังคงไม่ฟื้นตัว เพราะต้องเริ่มจ่ายหนี้ต่างๆ ที่ได้เคยขอผัดผ่อนไว้จนสะสมเป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องเริ่มชำระคืนเงินกู้ที่ได้กู้มาใหม่ด้วย

ต่อมา ในเดือนธันวาคม 2563 ได้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าการระบาดในครั้งแรก ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางลงอีกครั้ง มีการปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดเป็นการชั่วคราว และหน่วยงานหลายแห่งได้ประกาศให้บุคลากรทำงานจากที่บ้าน (Work from home) รวมถึงกรมการขนส่งทางบกได้ประกาศให้ใช้มาตรการ Social Distancing บนรถโดยสาร และในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้พิจารณารับผู้โดยสารไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของระดับความสามารถในการให้บริการของยานพาหนะ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงลดลงอย่างมากจนใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่เกิดการระบาดรอบแรก อย่างไรก็ตาม รถโดยสารสาธารณะไม่สามารถหยุดให้บริการได้เนื่องจากยังคงมีประชาชนบางส่วนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง โดยในการเดินรถโดยสารแต่ละเที่ยวนั้นปริมาณของผู้โดยสารได้ลดลงอย่างมาก แต่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV ต่อเที่ยวยังคงเท่าเดิม

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในครั้งนี้มีความรุนแรง รวดเร็ว และเป็นวงกว้าง กว่าการระบาดในครั้งแรก ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะจึงขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ โดยการปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ จากเดิม 13.35 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานได้เคยมีมาตรการช่วยเหลือในการระบาดครั้งแรก ซึ่งการช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของกิจการรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อประชาชน
More Stories
บริษัท ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) คว้ารางวัลเกียรติยศในงาน Asia Employee Experience Awards 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หัวข้อ “เคียงข้างผู้ประกอบการ สร้างอนาคตยั่งยืน” ศุกร์ที่ 18 ก.ค. 68
“พิชัย” เปิดงาน “Crafts Bangkok 2025” หนุน SACIT ผลักดันไทย เป็นศูนย์กลางหัตถกรรมแห่งอาเซียน จุดประกายคนรุ่นใหม่ สู่ตลาดโลก