กันยายน 19, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

เผยช้างไทยในภาคท่องเที่ยว 70% มีความเป็นอยู่ย่ำแย่วอนคนไทยเที่ยวเฉพาะปางช้างสวัสดิภาพดี

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยรายงานฉบับใหม่ พบว่าช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 70% มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ถูกใช้งานในการโชว์ช้างและขี่ช้าง ขาดอิสรภาพ ไม่ได้รับอาหารเพียงพอ และอยู่ในสภาพแวดล้อม ตึงเครียด ขณะที่อีก 25% มีสภาพความเป็นอยู่ปานกลาง ไม่มีการโชว์ช้าง อาหารและสภาพแวดล้อมเหมาะสม แต่ยังมีกิจกรรมที่ ช้างต้องปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวอย่างการอาบน้ำช้างอยู่บ้าง ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือช้างที่มีสภาพความเป็นอยู่ดี ไม่ถูกบังคับให้สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินเล่น หาอาหาร อาบน้ำได้อย่างอิสระ มีโอกาสแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

ข้อค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่อง Elephants. Not Commodities. หรือ “ช้างไม่ใช่สินค้า” ซึ่งนอกจากการประเมินสภาพความเป็นอยู่ของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว เนื้อหายังครอบคลุมภาพรวมและแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้าง ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่อการใช้สัตว์ป่าสร้างความบันเทิง สวัสดิภาพของควาญช้าง ตลอดจนวิธีการฝึกช้างที่มีความโหดร้ายทารุณด้วย
รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวและผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนความโหดร้ายทารุณต่อช้าง โดยการนำช้างมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้นั้นจำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการฝึกที่สร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิดใจให้กับช้าง เช่น การแยกลูกช้างจากแม่ช้างตั้งแต่ยังเล็ก การขังในซองแคบๆ การใช้ตะขอสับและขูดที่หัวลูกช้าง การใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่สั้นๆ ไปจนถึงการบังคับให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดอื่นๆ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของเอเชีย ข้อมูลเดือนมกราคม 2563 ระบุว่าเรามีช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2,798 ตัว เพิ่มขึ้นถึง 70% จากเมื่อ 10 ปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วเอเชีย ด้วยประชากรช้างขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ ความเสี่ยงเรื่องสวัสดิภาพย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักจากวิกฤตโควิด-19”

นายฉัตรณงค์เปิดเผยด้วยว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั่วโลกหันมาใส่ใจประเด็นสวัสดิภาพสัตว์และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น โดยผลการสำรวจในปี 2562 ขององค์กรฯ พบว่านักท่องเที่ยวเริ่มนิยมการเที่ยวชมสัตว์ป่าในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติและเลือกชมช้างในสถานที่ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ร่วมกิจกรรมขี่ช้างก็ลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งครอบคลุมสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยถึง 26% ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจว่านักท่องเที่ยวเห็นว่ากิจกรรมขี่ช้างเป็นกิจกรรมที่ยอมรับได้มีสัดส่วนลดลงถึง 11% เทียบกับปี 2557 การปรับปรุงสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้นจึงไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ช้างเท่านั้น แต่ยังเป็นทางรอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตด้วย

ด้านนางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่าโควิด-19 ส่งผลให้ ปางช้างจำนวนมากขาดรายได้ ทำให้ช้างส่วนใหญ่ที่มีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ทั้งในด้านอาหาร สุขภาพ สภาพความเป็นอยู่ของช้าง ไปจนถึงสวัสดิภาพของควาญช้างด้วย ซึ่งทางองค์กรฯ และภาคประชาสังคมอื่นๆ กำลังให้ความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้เรียกร้องไปยังนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้หยุดสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับช้าง และหันมาดูช้างในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติหรือในปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างแทน นอกจากนี้ ยังเสนอเรียกร้องไปยังภาครัฐและเอกชนให้ร่วมปรับปรุงพัฒนาสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบด้วย

“ช่วงที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักถือเป็นโอกาสดีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้ทบทวน พัฒนา และปรับปรุงสวัสดิภาพช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ให้ดีขึ้น ทั้งเพื่อช้าง ควาญช้าง และเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจเอง ขณะที่ภาครัฐก็ควรหันมาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ในระยะสั้น เราอยากเห็นภาครัฐรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือช้างที่ถูกทารุณกรรมอย่างโปร่งใสและทันท่วงที ปรับปรุงมาตรฐานปางช้างขั้นต่ำให้ดีขึ้น ส่วนในระยะยาวเราอยากเห็นการนำ พ.ร.บ.ช้าง กลับมาทบทวนและปรับปรุงใหม่ โดยต้องครอบคลุมประเด็นด้านสวัสดิภาพช้างอย่างครบถ้วน” นางสาวโรจนากล่าว

รศ. ดร. ธนพร ศรียากูล กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยระบุว่าภาครัฐควรกระจายภารกิจด้านการสอดส่องดูแลและตอบสนองเรื่องร้องเรียนด้านสวัสดิภาพสัตว์ไปสู่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ขณะที่ส่วนกลางก็ควรนำ พ.ร.บ.ช้าง ที่มีเนื้อหาครบถ้วนกลับมาพิจารณาและผลักดันใหม่ นอกจากนี้ ยังระบุถึงแนวคิดที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องให้รางวัลหรือประโยชน์ทางการเงินแก่สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพมากขึ้น
รศ. ดร. ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ควรให้รางวัลสนับสนุนทั้งด้านการเงิน สิ่งของ ใบรับรอง หรือลดภาษีเงินได้แก่สถานประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีรายได้จากสัตว์ประเภทต่างๆ หากมีการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นชัดเจนด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนจัดทำบทลงโทษ สร้างอุปสรรคเพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน หากดำเนินธุรกิจที่เป็นการทารุณกรรมสัตว์”

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/2GwHr5L และร่วมลงชื่อยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/elephant-breeding-ban

You may have missed