เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายวรวุฒิ ประสานพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันสารเสพติดและปัจจัยเสี่ยง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ประชาคมฯ มีการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ปัจจัยเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555-2556 โดยเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด มีการตรวจจับร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการกระทำผิดกฎหมายบริเวณที่จัดงานบุญเดือนสิบกว่า 70 ร้าน และรณรงค์ บังคับใช้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้งานบุญประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ 100% ต่อมาในปี 2565 ตนได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดงานกาชาดของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมออกแบบจัดงานให้ปลอดปัจจัยเสี่ยง โดยไม่กระทบกับภาพรวมงานใหญ่ ที่จะเน้นการท่องเที่ยว
ล่าสุดปี 2567 งานสารทเดือนสิบทางจังหวัดได้แบ่งพื้นที่ 1 โซนให้จัดเวทีรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เที่ยวงานปลอดเหล้า มีกิจกรรมหนังกลางแปลง และมีการรรงค์ประชาสัมพันธ์ทุกคน มีทีมงานเดินเท้าตรวจสอบพื้นที่ว่ามีการฝ่าฝืนตั้งร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ซึ่งตรวจสอบก็ไม่พบร้านที่กระทำความผิด ยกเว้นมีบางหน่วยงาน ที่นำผลิตภัณฑ์เหล้าชุมชน ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปมาจัดแสดง แต่ไม่ได้ให้ดื่มภายในงานแต่อย่างใด แต่ที่เป็นปัญหาใหม่ คือบุหรี่ไฟฟ้า เยอะมากโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์เสมารักษ์ ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ร่วมกับชุดโมบายศูนย์ยาเสพติดจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปกครอง ร่วมกันตรวจสอบยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 50 ตัว หากพบว่าผู้ที่ครอบครองเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็จะต้องให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองมารับคืน แต่ก็ไม่มีใครมาเอาคืน ส่วนคนที่อายุเกิน 20 ปี ก็ยึดเก็บไม่ให้สูบในงาน โดยอิงตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับเทศกาลลอยกระทงที่จะถึงนี้ เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำงานอย่างเข้มข้นต่อไปเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด อาวุธ ซึ่งเราทำกันทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้จะต้องเพิ่มเรื่องการป้องกันบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากที่เราเจอปัญหาในงานสาร์ทเดือนสิบไปแล้ว เบื้องต้นต้องใช้มาตรการที่เราใช้คือ ตรวจสอบ ยึดอุปกรณ์หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ผู้ปกครองมารับกลับ ถ้าไม่มารับ ก็จะส่งไปทำลายหลักฐาน โดยมีศูนย์ยาเสพติดจังหวัด กรมการปกครอง เป็นพยาน
“เราอยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลาน ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าบางตัวผู้ปกครองไม่รู้เลยว่า สิ่งๆ นั้นคือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหน้าตาเหมือนอุปกรณ์การเรียน หรือตุ๊กตา ไม่มีกลิ่น และบางครั้งผู้ใหญ่เองก็สูบให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้เด็กเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ดังนั้นผุ้ปกครองก็ต้องดูแลเข้มงวดตรงนี้ด้วย ที่เราเห็นชัดเลยคือเป็นเด็กผู้หญิงด้วย เด็กสุดที่เราเจอว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็กป. 4 อายุแค่ 10 ขวบ บางทีไม่มีเงินก็ใช้การรวมเงินกับเพื่อนๆ ไปซื้อมาแล้วแบ่งกันสูบ เพราะซื้อง่าย แค่สั่งออนไลน์ก็มาส่งถึงที่ ที่สำคัญข้อเรียกร้องภาครัฐว่าต้องควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ต้องไม่ทำให้ถูกกฎหมายเพราจะยิ่งควบคุมไม่ได้เลย” นายวรวุฒิ กล่าว
More Stories
การใช้โบลเวอร์อุตสาหกรรม ในระบบอุตสาหกรรมยุคใหม่
PDPC มอบหนังสือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและหนังสือสาระน่ารู้เกี่ยวกับ PDPA ให้แก่ สถาบันพระปกเกล้า
MarTech MarTalk 2024 EP.3: From Seeds to Success พาธุรกิจทุกสาย ปลูกต้นกล้าแห่งความสำเร็จ