กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT พร้อมด้วยเอกชนแถวหน้าของอุตสาหกรรม จับมือร่วมแถลงความสำเร็จงาน “Bangkok Gems and Jewelry Fair” แสดงความเป็นหนึ่งเดียวของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 16 องค์กร ในการสนับสนุนและร่วมจัดงานบางกอกเจมส์ ตอกย้ำความสำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก
วันนี้ (19 เมษายน 2567) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ผนึกกำลังกับภาคเอกชนระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมฯ ได้แก่ คุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ คุณบุญกิต จิตรงามปลั่ง คุณภูเก็ต คุณประภากร และ คุณวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จของงานแสดงสินค้า “Bangkok Gems and Jewelry Fair” และโอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก ณ ห้องพาณิชย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และมีสมาคมการค้าต่างๆ ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ให้เกียรติเข้าร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า “อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และสำหรับภาคการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) สามารถทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 5 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก”
พร้อมนี้ นายภูสิต ได้กล่าวถึงความสำเร็จของงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair ว่า “นับเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ DITP ได้จัดงาน Bangkok Gems เพื่อสร้างเวทีการค้าและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับ ได้พบและเจรจาการค้ากับนักธุรกิจและผู้ซื้อจากทั่วโลก โดยในปี 2565 DITP ได้จับมือกับ GIT เพื่อร่วมยกระดับและเสริมสร้างประสิทธิภาพการจัดงาน Bangkok Gems ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้อย่างเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ผนวกกับความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน อันประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนกว่า 16 องค์กร โดยเฉพาะสมาคมการค้าระดับแนวหน้าต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ทำให้การจัดงานฯ Bangkok Gems ครั้งที่ 69 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติเมื่อเทียบกับอดีต ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เข้าชมงาน 37,229 ราย จำนวน Exhibitor ทั้งจากไทยและต่างประเทศ 2,483 ราย ความหลากหลายของประเทศที่มาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น กว่าร้อยละ 60 ของผู้ชมงานเป็นต่างประเทศ และมีมูลค่าการซื้อขาย 3,950 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้เดิมถึงกว่าร้อยละ 20 โดยผู้เข้าร่วมงานพึงพอใจกับงานในระดับดีเยี่ยมเฉลี่ยกว่าร้อยละ 96.7 ความสำเร็จของงานฯ Bangkok Gems ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกอย่างแท้จริง”
ด้าน นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่า “ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากการผนึกกำลังระหว่าง DITP และ GIT ตลอดจนความร่วมมืออย่างเข้มแข็งขององค์กรพันธมิตร ซึ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย รวมทั้งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำความสำคัญของงาน Bangkok Gems และประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลกได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากผู้เข้าเยี่ยมชมงานครั้งที่ 69 คิดเป็นชาวต่างประเทศถึงเกือบร้อยละ 70 ของผู้เยี่ยมชมงานทั้งหมด (5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย จีน เมียนมา ศรีลังกา และสหรัฐอเมริกา) สำหรับการรับสมัคร Exhibitor งานครั้งที่ 70 (กันยายน 2567) ปรากฏว่าการจองคูหาตั้งแต่เริ่มรับสมัครได้ปิดการจองภายในเวลาไม่ถึงเดือน มีผู้จองพื้นที่ถึงกว่าร้อยละ 95 และมี Waiting List อยู่อีกประมาณเกือบ 400 คูหา” ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศและในประเทศ ทั้งนี้ งาน Bangkok Gems นอกจากจะเป็นเวทีเจรจาการค้าระดับสากลแล้ว ยังเป็นเวทีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การต่อยอดทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบอย่างครบวงจร และเป็นเวทีสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมฯ ผ่านกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมคู่ขนานมากมาย
สำหรับงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 70 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2567 ณ ฮอลล์ 1-8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรม Networking Reception กิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ และบริการให้คำปรึกษา ตลอดจนนิทรรศการเครื่องประดับโดยนักออกแบบไทย The Jewellers รวมถึงคูหาผู้ประกอบการรายใหม่ New Faces เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 40,000 ราย
ปี 2566 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) เป็นอันดับที่ 8 ของการส่งออกรวม สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 8,808.49 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) สามารถทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 5 คิดเป็นมูลค่า 1,822.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 63,946 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.81 และคาดการณ์เป้าส่งออกปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 5 – 10
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก