December 14, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

“ทิชา”ยกเคสมุกดาหารบทเรียน กระชากหน้ากากครู รุ่นพี่ ละเมิดทางเพศนักเรียน

“ทิชา” ยกเคสมุกดาหารบทเรียน กระชากหน้ากากครู รุ่นพี่ ละเมิดทางเพศนักเรียน ต้องฝ่ากระแส “เบลมเหยื่อ” ลดค่า หวังปิดปาก ผู้กระทำส่วนใหญ่มีอำนาจเหนือกว่า “ผู้ช่วยรมต.ศึกษาฯ” แจงกำกับเข้มหน่วยงานทำงานจริง ทำงานเร็ว เดินหน้าปรับทัศนคติไม่ปกปิดความผิดช่วยพวกพ้อง หยุดเอาเด็กสวมโม่งดำนั่งแถลงข่าว “บ้านพักเด็กฯ ขอนแก่น” เผยสังคมตื่นรู้แจ้งช่วยเหลือมากขึ้น ฝากเสริมทักษะปฏิเสธ-ขอความช่วยเหลือ  ด้านงานคุ้มครองพยานยืนยันการเสริมพลังใจให้พยานผู้เสียหายในคดีอาญา มีส่วนสำคัญในการคืนความยุติธรรม ควบคู่กับความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 67 ที่ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม. มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ร่วมกันจัดกิจกรรมถอดรหัสทวงคืนความยุติธรรมให้นักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีการเสวนา ในหัวข้อ “ทางออกเพื่อโรงเรียนปลอดภัย ยุติปัญหาครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน” นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ร่วมกันปกป้องผีเสื้อปีกบาง” พร้อมฉายวีทีอาร์ชุด “เสียงจากผีเสื้อ(ที่ถูกทำร้าย)…หลังคำพิพากษา” ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงปัญหาและการต่อสู้คดีความรุนแรงทางเพศต่อนักเรียนหญิง ที่มีครู และรุ่นพี่เป็นผู้กระทำ จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสิน จำคุกตลอดชีวิตครู 4 คน รุ่นพี่ 2 คน

นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ที่สามารถให้การคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีความปลอดภัยในชีวิตทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในสังคม จนถึงปี 2567 ที่กระทรวงศึกษามีอายุครบ 132 ปี และเป็นปีที่ลงนามอนุสัญญาดังกล่าวมานานกว่า 32 ปี แต่กลับพบว่า เด็กไทยยังมีความเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย ถูกละเมิดทางเพศ ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนซึ่งผู้ละเมิดทางเพศคือครู คือพ่อแม่คนที่สองของเด็กๆ แน่นอนว่าครูส่วนใหญ่ เป็นครูที่ดีและตั้งใจจริง แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่แอบแฝงเข้ามาในคราบครู และคอยจ้องกระทำกับเหยื่อที่เป็นศิษย์ของตัวเองอย่างไร้สำนึก โดยหลักฐานเชิงประจักษ์คือศาลพิพากษาครู 4 คน รุ่นพี่ 2 คน ให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 แต่กว่าเหยื่อจะถูกเสริมพลังอำนาจทั้งพลังอำนาจทางใจ ทางความคิด (Empowerment Support) ชนะคดีและได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องผ่านการถูกเบลมเหยื่อผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อปิดปากเหยื่อที่สะท้อนระบบคิดชายเป็นใหญ่หรือผู้มีอำนาจถูกต้องเสมอ

“การเบลมเหยื่อคือการปิดปากทางสังคมที่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกลดทอนมีสภาพเป็นแค่เสือกระดาษ เนื่องจากจะไม่มีผู้เสียหาย ผู้ถูกกระทำคนใดกล้าออกมาขอความช่วยเหลือหรือไปแจ้งความ เพราะการเบลมเหยื่อรอประหารพวกเขาอยู่ และนั่นเท่ากับการอนุญาตให้ผู้กระทำลงมือได้ต่อไป ปรากฏการณ์มุกดาหารชัดเจนมากในมิติการเบลมเหยื่อและระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพที่กำลังตามหาต้องจัดการกับระบบนิเวศที่ขัดขวาง เพื่อปลดพันธนาการของผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อให้ได้ นักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของครูต้องถูกให้ความสำคัญ ถูกจัดการด้วยข้อค้นพบใหม่ๆ ด้วยปัญญา ด้วยความกล้าหาญที่สำคัญผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างรอบด้าน”  นางทิชา กล่าว

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญมาก เพราะกระทรวงถือเป็นบ้านใหญ่ที่มีเด็กที่ต้องให้การดูแลจำนวนมาก และมีความหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดกับโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนที่มีความพิเศษ เพราะเด็กจะมีความหลากหลาย และเป็นพื้นที่ที่คุณครูมักจะรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้นทางกระทรวงจึงวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างเยอะ และพยายามกำกับให้หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนนั้นสามารถทำงานได้อย่างแท้จริง ทำให้เร็ว มีการติดตามประเมินผล และรับฟังความคิดเห็นที่สะท้อนกลับมา สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือกระทรวงศึกษากำลังพยายามปรับทัศนคติของคนในองค์กร ต้องไม่ช่วยกันปกปิดความผิด หรือปิดข่าวโดยเชื่อว่าเดี๋ยวเรื่องก็จะเงียบไปเอง เรื่องนี้สำคัญ และเป็นทุกองค์กรไม่เฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาเท่านั้น เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข แต่ถูกเอาไปซุกใต้พรมจนวันหนึ่งจะดันเก้าอี้ออกมา กลับกันหากผู้อำนวยการทราบเรื่องต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และรวดเร็วบนฐานของความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มจากการย้ายคู่กรณีออกจากพื้นที่ โดยไม่ไปตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่ไม่ได้ให้ออกจากราชการ เพราะจะทำให้เขาว่าง เสี่ยงเข้าไปยุ่งกับพยาน ดังนั้นต้องให้ช่วยราชการ ต้องรายงานตัวทุกวัน

“สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินเสียงเด็กสะท้อนมาคือ กรณีที่เราไปขยายผลต่อผ่านสื่อ เป็นข่าวใหญ่ มีดราม่ามาก ซึ่งก็ไม่ผิดว่าอยากขับเคลื่อนสังคมไปทางไหน แต่การเอาเด็กไปใส่หมวกดำ แว่นดำ ให้เขาไปอยู่ตรงนั้น เขาก็ถามกลับว่า ทำไมเขาต้องมาเจอสภาพแบบนี้ ซึ่งทางกระทรวงพยายามมีแนวทางไม่อยากให้เด็กไปร่วมกระบวนการนี้ การสืบพยานเป็นกระบวนการหนึ่ง แต่ไม่ใช่การเอาเด็กไปใส่โม่งอยู่ตามหน้าสื่อ เพราะยิ่งเป็นการทำร้ายเด็กไปอีก” นายสิริพงษ์ กล่าว

 นางมยุรี อึ้งตระกูล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดขอนแก่น และอดีตหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว มุกดาหาร ในช่วงที่เกิดเหตุ  กล่าวว่า บ้านพักเด็กฯ เป็นหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเป็นสถานที่แรกรับเด็กที่ประสบปัญหาทางสังคมเข้ามาดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต เสริมพลัง เป็นระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้สิ่งที่ต้องดูแลหนักๆ ในกลุ่มเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือสภาพจิตใจ เพราะเด็กจะมีความกลัว วิตกกังวล เครียด จึงต้องประสานโรงพยาบาลส่งทีมสุขภาพจิตเข้ามาดูแลบำบัด และเสริมพลังใจ ซึ่งบางรายอาจจะดีขึ้นก่อน 90 วัน บางรายอาจจะนานกว่านั้น จึงต้องประชุมทีมสหวิชาชีพว่าเด็กจะสามารถกลับบ้านได้หรือไม่ หรือจะต้องส่งไปดูแลต่อที่สถานรองรับของกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือสุดท้ายต้องเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานเหมือนกรณีที่มุกดาหาร  เราต้องเลือกทางที่เหมาะสมที่สุดให้เด็ก ทั้งนี้อยากให้มีการเสริมทักษะในการแก้ไขปัญญา ทักษะในการปฏิเสธ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่วนใหญ่ที่เจอมาคือเด็กไม่กล้าแจ้งผู้ปกครอง เพราะผู้กระทำจะเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกกว่า ดังนั้นต้องฝึกเด็กให้มีทักษะเหล่านี้ และกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนที่เขาไว้ใจ ขณะที่ครอบครัวก็ต้องมีทักษะในการดูว่า มีความผิดปกติกับบุตรหลานหรือไม่  ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ปรึกษาหารือกันได้  เพราะเมื่อเจอปัญหาใหญ่เด็กๆ จะกล้าที่จะบอกเล่า

“เท่าที่มีการคุยกันเรื่องการช่วยเหลือเด็กถูกละเมิดทางเพศ จะเห็นว่ามีบางจังหวัดที่สถิติค่อนข้างเยอะ ก่อนหน้านี้ที่ยังอยู่มุกดาหาร สถิติต่างกันมาก ที่มุกดาหารแทบจะไม่มีเคสที่ดำเนินการทางด้านกฎหมายเลย แต่พอมาขอนแก่น แต่ละเดือนพบว่ามีเด็กถูกล่วงละเมิดที่ร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ มากพอสมควร  และแทบทุกเคสจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เราจะช่วยเรื่องการแจ้งความด้วย เพราะบางเคสถูกละเมิดโดยคนในครอบครัวเลยไม่มีการแจ้งความ ซึ่งการที่มีคนแจ้งให้เราเข้าไปช่วยเคสเยอะ  ก็สะท้อนได้ว่าสังคมเริ่มที่จะไม่เพิกเฉยแล้ว แต่คิดว่ายังมีที่ต้องหลบซ่อนไม่กล้าขอความช่วยเหลืออยู่อีกไม่น้อย จึงอยากฝากว่าหากเกิดปัญหากับเด็กให้นึกถึงบ้านพักเด็กและครอบครัวในจังหวัด หรือโทรแจ้งได้ที่ 1300 ” นางมยุรี กล่าว

ด้านนางสาวจิราภรณ์ เพชรหนูเสด นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองพยาน ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนปฏิบัติการคุ้มครองพยาน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อพยานอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบกฎหมายที่ให้อำนาจในการดูแลความปลอดภัยของพยานและผู้ใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่น ลดภาวะความตึงเครียด ซึ่งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัย ที่มากกว่าความปลอดภัย ทั้งในด้านการศึกษา สำนักงานฯ ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ประสานความร่วมมือ ให้แก่พยานและผู้ใกล้ชิดให้ได้รับการศึกษาตามความเหมาะสม ด้านสุขภาพกายได้เข้ารับการตรวจรักษาและได้รับการให้คำปรึกษาโดยนักสังคมสงเคราะห์นักจิตวิทยาคลินิก รวมถึงด้านสุขภาพจิตทาง เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองความปลอดภัย  จะหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกพยานและผู้ใกล้ชิด หากอยู่ในสภาวะมีความวิตกกังวล  จะนำพาพยานและผู้ใกล้ชิด เข้ารับการรักษาพยาบาล สำหรับด้านการเสริมพลังใจก่อนเบิกความต่อศาล  สำนักงานฯ ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว จัดกิจกรรมเสริมพลังใจให้กล้าหาญ นำโดยทิชา โดยมีเป้าหมายให้พยาน ผู้ปกครอง ญาติ มีความเข้มแข็ง  เข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้  มีพลังใจ มีความพร้อมสำหรับทำหน้าที่เป็นพยานในชั้นศาล  ทั้งนี้สำหรับการเยียวยาตามพ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ได้จ่ายค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 3 รายรวม 130,000 บาท

“จากการทำงานร่วมกันของสำนักงานฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาชนจะพบว่าภายใต้ข้อจำกัดบางประการ องค์กรภาคประชาชน อย่างมูลนิธิฯซึ่งได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ช่วยปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งในการทำงานได้เป็นอย่างดี  เสริมความคล่องตัวในการทำงานได้มาก  ด้วยความไว้วางใจและเห็นเป้าหมายร่วมกัน ในเร็วๆนี้สำนักงานจะร่วมกับมูลนิธิฯ  ถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบและความเข้มแข็งในการทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองพยานในคดีเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นางสาวจิราภรณ์ กล่าว”

You may have missed