ตามที่นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก นับจากนี้ไปการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่านั้น คือ มาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และการให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และภารกิจของคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ จึงนำทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิประกาศความพร้อมก้าวสำคัญในการ “ก้าวสู่ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน”อย่างเป็นทางการ
โดยเปิดตัว 6 ผลงานวิจัยนวัตกรรมสุดล้ำแห่งยุคที่ตอบโจทย์ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY ได้แก่
1.การขับเคลื่อนการใช้ rPET ในอุตสาหกรรมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ โดย รศ.ดร.อำพร เสน่ห์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ กล่าวว่าrPET ผลิตมาจากขวดพลาสติกชนิด PET ที่ใช้แล้วด้วยกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารปนเปื้อน และผ่านเกณฑ์การทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารและการตรวจประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อให้ได้ rPET ที่มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ. 2565 ซึ่งผลงานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
2.การใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล โดย ผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่าส่วนเหลือในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเลอย่างเปลือกกุ้ง ก้างปลา หัวปลา เครื่องใน หัวและเท้า ยังมีสารที่มีมูลค่าสูงอยู่ปริมาณมาก เช่น โปรตีน คอลลาเจน แอสตราแซนธิน และโอเมก้า-3 เป็นต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบสำหรับสกัดสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงได้
3.การพัฒนาผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลสู่วัสดุมูลค่าสูงเพื่อการแพทย์และอาหาร โดย รศ.ประกิต สุขใย ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่าการใช้ผลพลอยได้ที่สำคัญจากอุตสาหกรรมน้ำตาลสู่การสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยอนุพันธ์ของเซลลูโลสจากชานอ้อยพัฒนาเป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุทางการแพทย์ เช่นเดียวกับ กากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตจากกระบวนการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ สามารถพัฒนาสู่ไบโอเซรามิกเพื่อเป็นสารทดแทนกระดูก ตอบโจทย์การยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทย และการพัฒนาตามหลัก BCG”
4.เครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียวและเบคอนเปลือกกล้วยกรอบ Transforming food for fit and firm การพัฒนาอาหารนอกกรอบเพื่อความฟิตและดูดี โดย ผศ.ดร.กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวว่าแนวคิดมาจากความต้องการพิสูจน์ความดีที่ไม่มีใครเคยเห็น ปลดล็อคเปลือกถั่วเขียว และเปลือกกล้วยให้กลายเป็นอาหารนอกกรอบ เพื่อหุ่นฟิต และดูดี ภายใต้โครงการวิจัยชั้นแนวหน้าด้านอาหารเพื่ออนาคต พัฒนาสูตรและการผลิตเครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียวที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ส่งเสริมสุขภาพสูง และการผลิตเบคอนกรอบจากเปลือกกล้วย อร่อยและได้สุขภาพ
5.From Waste to Fashion ส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตรสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดย อาจารย์ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ กล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นด้าน sustainable products นำผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ การนำเส้นใยอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนฝ้ายที่การปลูกส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแฟชั่น
6.กิจกรรมส่งเสริม AI Circular สำหรับนิสิต และบุคลากร คณะฯ โดย ผศ.ดร.อภิชญา ลีลาวณิชกุล กล่าวว่า กลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพองค์กรเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จัดทำโครงการแยกและจัดการขยะ เพิ่มมูลค่าให้ขยะ สร้างความตระหนักให้แก่บุคลากร และนิสิตในคณะ
เพื่อตอกย้ำความสำเร็จ คณะฯได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล PET เพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัสดุสัมผัสอาหาร และยังมีตัวอย่างความร่วมมือกับอีกหลายแหล่งทุนจากภาครัฐ และเอกชน
“เราพร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy โดยเน้นเป้าหมายการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย ให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไก การบริการวิชาการ บริการวิจัย และบริการให้คำปรึกษาในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมการวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูงอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเป้าให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาขับเคลื่อน วัตถุดิบ ที่มาจากผลพลอยได้หรือส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตร ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนผสมอาหารเชิงฟังก์ชัน วัสดุและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ Zero waste และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการกินดีอยู่ดี และการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย
More Stories
BIDC 2024 สร้างรายได้กว่า 1,195 ล้านบาท รวมพลคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ตบเท้าร่วมงานกว่า 30,000 คน
กระทรวงดีอี – ดีป้า ชูโครงการ Smart School Bus ต้นแบบกลไกยกระดับ ผลิตภัณฑ์-บริการดิจิทัลสัญชาติไทยได้มาตรฐานสากล สู่การประยุกต์ใช้ดิจิทัลยั่งยืน
หัวเว่ย มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคลาวด์ระดับภูมิภาค หลังจากกระทรวงดีอี ชี้แจงนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก “Cloud First Policy”