กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการและแผนงบประมาณ (รุ่นที่ 2 ) สำหรับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) ปี 2564 โดยมีตัวแทนสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่ผ่านการคัดเลือก 10 สถาบัน เข้าร่วมประชุมเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการและงบประมาณ ก่อนการจัดทำสัญญาภาคีร่วมกับ กสศ. และเตรียมความพร้อมสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2564
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายจากนักเรียนที่เรียนดี แต่มีฐานะยากลำบากให้มาเรียนสายอาชีวศึกษา โดยครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ กสศ.ต้องการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง
ในปีที่ผ่านมา กสศ.ได้เริ่มให้การสนับสนุนกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ประมาณ 60 ทุน ผ่านสถาบันการศึกษาสายอาชีพ 5 แห่ง โดยในปีการศึกษา 2564 ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเป็น 130 ทุน มีสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการ 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเข้ามาช่วยค้นหากลุ่มเป้าหมาย และดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักศึกษา ทั้งสวัสดิภาพความเป็นอยู่ การปรับหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และเตรียมพร้อมสู่การมีงานทำ
ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม หัวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กล่าวว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้แต่ละวิทยาลัยจะเริ่มลงไปค้นหาเด็กแบบเชิงรุก ไม่ใช่แค่ไปหาจากพันธมิตรแต่จะต้องทำงานเชิงพื้นที่ว่าในพื้นที่มีโรงเรียนคนพิการไหม ไปทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหาเด็กที่ตรงกับเป้าหมายคือมีผลการเรียนดี ยากจน และเป็นกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยกระบวนการค้นหาจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.
“การประชุมครั้งนี้เป็นการปฐมนิเทศให้สถาบันการศึกษาได้ปรับโครงการให้มีความชัดเจน มีศักยภาพที่จะทำกิจกรรมหนุนเสริมให้กับเด็ก เริ่มตั้งแต่การค้นหาเด็ก ไปจนถึงการดูแลหอพัก มีคนมาดูแลช่วยเหลือ ทั้งสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ ส่วนที่สองคือการจัดห้องเรียน เตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิศษ เพิ่มหลักสูตรทั้งด้านอาหาร และ การจัดการสำนักงาน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้กับเด็กที่อยากเรียน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้เปิดหลักสูตร นอกจากนี้บางวิทยาลัยยังมีหลักสูตรระยะสั้น เช่น ตัดผมให้เลือกเรียนเพิ่มเติมเพื่อเสริมศักยภาพให้ตัวเอง และสร้างโอกาสเพิ่มเติม” ดร.ชนิศา กล่าว
ดร.ชนิศา กล่าวว่า อีกด้านที่สถาบันการศึกษาจะเข้าไปช่วยเหลือคือการปูทางสู่อาชีพ ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษะอาชีพเท่านั้น แต่ยังมีทักษะอื่นทั้งเรื่องการสื่อสาร การคิด การฟัง การทำงานตามกฎระเบียบ ซอฟต์สกิล โดยเฉพาะกับนักศึกษารุ่นแรกที่กำลังจะขึ้นปวส. ปี 2 ซึ่งได้ประสานกับทาง 5 สถาบันการศึกษาเขียนแผนการช่วยเหลือนักศึกษาให้จบออกไปแล้วมีงานทำทั้งระบบทวิภาคีที่ทำอยู่ไปจนถึงจัดอบรมการเขียนเรซูเม่ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่านักศึกษาจบแล้วจะต้องมีงานทำ 100% โดยทางคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาช่วยจัดทำเครื่องมือวัดความพร้อมสู่การทำงาน ที่ไม่ใช่แค่ทักษะวิชาการแต่ยังมีทักษะอื่น ๆ ด้วย
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก