November 22, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

ล้ำยุคสู้มะเร็งปอด 2020: นวัตกรรมทางเลือกใหม่เพื่อการรักษามะเร็งปอด พร้อมผุด “LungAndMe” ผู้ช่วยดิจิทัล เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยมะเร็งปอด

เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนที่ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต่อต้านและสร้างความตระหนักให้กับมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย อย่าง “มะเร็งปอด” ทุกชั่วโมงจะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 2.7 ราย หรือ 23,957 รายต่อปี  และคร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ กล่าวคือ ทุกชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากถึง 2.4 ราย หรือ 21,371 รายต่อปี  นอกจากนี้  คนไทยส่วนใหญ่ถึง 70% ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดมักพบในระยะที่ 4 หรือระยะลุกลาม ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ไม่ถึง 5% ในโอกาสนี้ คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย (Thai Lung Cancer Group: TLCG) จึงจัดงานขึ้นภายใต้ชื่อ “ล้ำยุคสู้มะเร็งปอด 2020” เพื่อสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ถึงความรุนแรงของโรค ความเสี่ยง รวมถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ช่วยให้เข้าใจความหลากหลายของโรคมะเร็งปอดมากขึ้น  พร้อมนำเสนอทางเลือกใหม่ในการรักษาที่ตรงจุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอด ภายในงานยังเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘LungAndMe’ ผู้ช่วยดิจิทัลที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค การรักษา และการดูแลตนเอง เพื่อให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแลเข้าถึงคำแนะนำที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ www.LungAndMe.com, Facebook.com/LungAndMe, Line: @LungAndMe และ YouTube: LungAndMe

รศ.ดร.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย เปิดเผยว่า “มะเร็งปอดถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เพราะไม่เพียงแต่เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเท่านั้น แต่อัตราการรอดชีวิตยังต่ำอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลาม อีกทั้งมะเร็งปอดยังแสดงอาการบางอย่างที่ใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ทำให้แพทย์ต้องวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนและเลือกแนวทางการรักษาที่ตรงจุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปได้”

ส่วนการเกิดมะเร็งปอดนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ไม่ว่าจะมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ด้วยตนเองหรือได้รับควันบุหรี่มือสองจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบ มีการศึกษาพบว่าหากสูบบุหรี่วันละ 35 มวน โอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 50 เท่า ทั้งนี้ พญ. ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดอีกด้วยว่า “ปัจจัยภายนอกอย่างการได้รับสารพิษหรือมลภาวะในสิ่งแวดล้อมก็อาจทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน  เช่น การสัมผัสสารแอสเบสตอส (asbestos) หรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และฉนวนกันความร้อน ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม รวมไปถึงฝุ่น PM 2.5 ด้วย ส่วนปัจจัยด้านอายุและการที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปอดมาก่อนก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดเช่นกัน นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว มะเร็งปอดยังอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลักษณะทางพันธุกรรมหรือยีนในร่างกายที่กลายพันธุ์ กรณีนี้มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว” เห็นได้ชัดว่าโรคมะเร็งปอดมีสาเหตุการเกิดที่หลากหลายและอาจพบได้แม้ในคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

ทุกวันนี้ ความก้าวหน้าของนวัตกรรมการวินิจฉัยและการรักษามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความหลากหลายของโรคมะเร็งปอด สำหรับประเด็นนี้ พญ. กุลธิดา มณีนิล อธิบายว่า   “มะเร็งปอดจำแนกได้เป็น 2 ประเภทตามพยาธิสภาพของมะเร็ง คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer – SCLC) และชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC) โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดในชนิดเซลล์ขนาดเล็กพบอยู่เพียง 10-15% ของผู้ป่วย ในทางกลับกัน ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็กกลับพบมากถึง 80-85%  ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอดมาก่อนหรือไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ในบรรดาการกลายพันธุ์ของยีนทั้งหมด พบว่าการกลายพันธุ์ประเภท Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) มีโอกาสพบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชียที่ไม่สัมผัสกับควันบุหรี่ พบยีนกลายพันธุ์ EGFR ถึง 50%  เมื่อเทียบกับยีนกลายพันธุ์ประเภทอื่น” ดังนั้น เทคโนโลยีการวินิจฉัยทางการแพทย์สมัยใหม่จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ทราบลักษณะการกลายพันธุ์ของยีนได้ชัดเจนและครบถ้วน ทั้งยังช่วยให้แพทย์กำหนดแนวทางการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย หรือที่เรียกว่า “การรักษาแบบจำเพาะบุคคล (personalized treatment)” ซึ่งส่งผลให้การรักษาและการกำจัดเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีโอกาสการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น     

รศ.พญ. ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา กล่าวว่า “ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์มีตัวเลือกเลือกการรักษามะเร็งปอดมากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่สามารถออกฤทธิ์ไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งการรักษาด้วยยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม กล่าวคือ เมื่อให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดกับผู้ป่วย พบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตลงถึง 41%  เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด นอกจากนี้ การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดยังช่วยเลี่ยงการเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน และภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“ล่าสุด ยังมีการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดผสมผสาน ซึ่งเป็นการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาเคมีบำบัด และ / หรือ ยาต้านการสร้างหลอดเลือด พบว่านอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองและยืดระยะเวลาตอบสนองต่อยาแล้ว การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดผสมผสานยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ในระยะยาวอีกด้วย แนวทางการักษานี้เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะลุกลามที่ไม่มียีนกลายพันธุ์ และผู้ป่วยที่ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งได้รับยามุ่งเป้าแล้วเกิดอาการดื้อยา อย่างไรก็ดี การพิจารณาแนวทางการรักษาขึ้นต้องอาศัยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยจากโรคและปัจจัยจากผู้ป่วย เช่น ระยะของโรค ตำแหน่ง ขนาดของก้อนเนื้อ สภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน รวมไปถึงสิทธิการเข้าถึงการรักษา”

จะเห็นได้ว่ามะเร็งปอดเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแลได้เข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรค การป้องกัน และการดูแลตนเอง รวมไปถึงคำแนะนำที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย จึงได้ร่วมกับ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘LungAndMe’ ผู้ช่วยดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ www.LungAndMe.com, สื่อสังคมออนไลน์ Facebook.com/LungAndMe, แอปพลิเคชัน Line: @LungAndMe, และ YouTube: LungAndMe “เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมแพลตฟอร์ม ‘LungAndMe’ ผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแลจะได้พบกับสาระน่ารู้จากแพทย์ที่อัพเดทอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์จากเพื่อนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่พร้อมร่วมแบ่งปันเรื่องราวและกำลังใจให้แก่กัน แนวทางการใช้ชีวิตกับโรคมะเร็งปอดอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งปอดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฟีเจอร์ช่วยค้นหาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ฟีเจอร์สำหรับจดบันทึกและติดตามอาการระหว่างการการรักษา และยังมีช่องทางเพื่อตอบคำถามคาใจเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งปอด ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลคลายความกังวลใจเหมือนมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เคียงข้างและก้าวผ่านโรคร้ายนี้ไปได้อย่างปลอดภัย” ผศ.พ.ท.นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข กล่าวปิดท้าย