14 พฤษภาคม 2567: กรุงเทพมหานคร พาไปร่วมกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภายใต้แนวคิด “I’m in” การมีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ไปด้วยกัน กับกิจกรรม “ไม่เทรวม” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้ กทม. เป็นเมืองที่สะอาด สร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ เป็นดั่งเมืองในฝันของทุกคน พร้อมขอบคุณประชาชนและเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือ และทำให้ กทม. สามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะไปได้ถึง 141,474,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยมี นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย มาร่วมแถลงข่าวและให้ข้อมูล ณ ตลาดคลองเตย และ ศูนย์การเรียนรู้การคัดแยกขยะ กรุงเทพมหานคร
จากการที่กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมากถึง 8,000 ตันต่อวัน เป็นขยะเศษอาหารกว่า 50% อีกทั้งการทิ้งขยะรวมกันโดยไม่แยกขยะก่อนนั้นทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ และการไม่แยกขยะส่งผลเสียผลเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กทม. ต้องเสียงบประมาณในการบริหารจัดการขยะมากถึง 7 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้นการบริหารจัดการแยกขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กทม. ต้องดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐและอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวกทม. รวมถึงผู้ประกอบการช่วยกันลงมือแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
โดยแหล่งกำเนิดขยะแบ่งเป็น 3 หมวดตามขนาด ได้แก่ หมวด L นำโดย ตลาด สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงแรม ศาสนสถาน เป็นต้น หมวด M นำโดย รเนอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ชุมชน เป็นต้น และหมวด S นำโดย บ้านเดี่ยว ห้องแถว เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการคัดแยกขยะของแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ (หมวด L) ในเดือน มี.ค. 2567 มีแหล่งกำเนิดเข้าร่วม 2,805 แห่ง สามารถแยกเศษอาหารได้ 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน ยกตัวอย่าง ตลาดเข้าร่วม 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษาเข้าร่วม 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้าเข้าร่วม 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน
สำหรับเป้าหมายการคัดแยกขยะทุกประเภท ประจำปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 200 ตัน/วัน ปี 2568 อยู่ที่ 500 ตัน/วัน และปี 2569 อยู่ที่ 1,000 ตัน/วัน
สำหรับในพื้นที่ตลาดคลองเตย ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าในตลาด พร้อมมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดให้นำเศษขยะอาหาร ใบไม้ มาจัดทำปุ๋ย ส่วนขยะอื่น ๆ ให้แยกตามประเภท ส่งผลให้สำหรับในเขตคลองเตย สามารถลดค่ากำจัดขยะได้ถึงประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี
ด้วยประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ “ไม่เทรวม” ทำให้ปริมาณขยะลดลงเฉลี่ย 204 ตันต่อวัน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเป็นเงิน 387,600 บาทต่อวัน หรือ 74,460 ตันต่อปี ลดค่าใช้จ่ายต่อปีได้ถึง 141,000,000 บาท ซึ่งสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ในประโยชน์ด้านอื่น ๆ ให้กับเมืองได้หลากหลาย และตรงตามความต้องการของคนกรุงเทพฯ ให้กรุงเทพเป็นดั่งเมืองในฝันของทุกคน
สำหรับกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ครั้งหน้าจะพาไป I’m in ที่ไหนสามารถติดตาม และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เพจกรุงเทพมหานคร และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของกรุงเทพมหานคร
Instagram: https://www.instagram.com/bangkok_bma
YouTube: https://youtube.com/@PRbangkok
TikTok: https://tiktok.com/@bangkok_bma
X: https://twitter.com/bangkokbma
Website: https://www.pr-bangkok.com
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก