November 10, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

บำรุงราษฎร์ ชูความพร้อมทีมแพทย์และเทคโนโลยี ‘ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ’ ให้การตรวจวินิจฉัยรักษาได้ครอบคลุมทุกปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับอย่างแม่นยำตรงจุด

ปัจจุบัน ด้วยสภาพแวดล้อม และไลฟสไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น เช่น การรับประทานอาหาร และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้สถานการณ์ของโรคระบบทางเดินอาหารและตับพบได้มากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และบางโรคมีความซับซ้อนในการดูแลรักษา ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมุ่งมั่นพัฒนาการรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์

โดยในปี 2565 ‘ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ’ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมมือกับ ‘ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และในปี 2566 นี้ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ได้ต่อยอดขยายคลินิกเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาการรักษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และทัดเทียมมาตรฐานโลก

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า“ตลอด 43 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ยกระดับการรักษาและพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบทางเดินอาหารและตับ ถือเป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญมาก ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตและไม่ควรละเลยที่จะดูแล ปัจจุบัน จำนวนของผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหารและตับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เล็งเห็นถึงปัญหาและมุ่งหวังที่จะช่วยรักษาผู้ที่มีอาการหรือมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและตับอย่างครอบคลุม ทั้งโรคทั่วไปและโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งการที่เรามีคลินิกเฉพาะทาง โดยมีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีเครื่องมือที่ทันสมัย จะเอื้อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ผศ. นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า“ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นพัฒนาตัวเราให้เป็นที่หนึ่งในใจของคนไทยและคนทั่วโลก โดยได้พัฒนาการรักษาและให้การดูแลผู้ป่วยมากกว่า 43,000 รายต่อปี ปัจจุบันมีคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ประกอบไปด้วย 1. คลินิกโรคทางเดินอาหารทั่วไป 2. ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร 3. ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร 4. คลินิกโรคตับอ่อน 5. คลินิกพันธุกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร 6. คลินิกโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง 7. คลินิกโรคตับ และ 8. คลินิกไมโครไบโอมแบบบูรณาการ โดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ สอดคล้องกับนโยบายของบำรุงราษฎร์ที่มุ่งมั่นในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับ ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งการมีคลินิกเฉพาะทางจะเสริมศักยภาพด้าน 1. การตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำและตรงจุดมากขึ้น 2. สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ตั้งแต่อาการแรกเริ่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 3. จากประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาด ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

ศ. นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า“ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทำงานของระบบทางเดินอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการเป็นๆ หายๆเรื้อรัง โดยสามารถมีอาการได้ตั้งแต่อาการของหลอดอาหารไปจนถึงทวารหนัก เช่น หลอดอาหารสามารถเกิดปัญหากรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอาจมีปัญหากระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการโรคกระเพาะอาหารทีส่องกล้องไม่พบความผิดปกติ โรคลำไส้แปรปรวน อืดแน่นท้อง ไปจนถึงท้องผูกเรื้อรัง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีปัญหาเหล่านี้สามารถรักษาด้วยแพทย์ทั่วไป แต่ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่งพบว่ามีอาการซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิตมาก พบแพทย์มาหลายท่านหรือรักษาด้วยยาต่างๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ‘คลินิกเฉพาะทางด้านการทำงานของระบบทางเดินอาหาร’ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของทางเดินอาหารที่รักษายากกลุ่มนี้ เช่น ในผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังที่รับประทานยาระบายไม่ได้ผล เรามีเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย เช่น การรักษาด้วยวิธี Biofeedback therapy เพื่อฝึกการขับถ่าย ใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการเบ่งอุจจาระที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งสามารถทำให้อาการท้องผูกหายขาดได้ถึงร้อยละ 60 ส่วนในกลุ่มที่ไม่หายขาดก็ทำให้อาการดีขึ้นและสามารถลดยาระบายได้ หรือเทคโนโลยีการตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง เพื่อวัดความถี่และระยะเวลาที่กรดในกระเพาะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารทำให้แพทย์ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอนสามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้เลือกเทคโนโลยีที่นำมาตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้มีความแม่นยำและให้การรักษาได้อย่างตรงจุด”

รศ.คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ‘คลินิกส่องกล้องทางเดินอาหาร’ ได้นำเทคโนโลยีส่องกล้องทางเดินอาหารที่ทันสมัยเข้ามาเพื่อตรวจสุขภาพระบบทางเดินอาหารทั้งส่วนต้นและส่วนปลาย ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร สำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ โดยใส่อุปกรณ์เข้าทางปากหรือทวารหนัก โดยกล้อง Endoscopy สามารถตรวจจับและระบุลักษณะเฉพาะของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือรอยโรคได้ อีกทั้งยังสามารถรักษาและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปวินิจฉัยโรคได้ในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ ประโยชน์ของการส่องกล้องทางปากหรือทางทวารหนักยังทดแทนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยพักฟื้นน้อยลง ลดภาวะแทรกซ้อนได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเทคโนโลยีส่องกล้องทางเดินอาหาร เช่น

  • ERCP การส่องกล้องตรวจรักษาท่อน้ำดีและตับอ่อน เพื่อประเมิน วินิจฉัย และวางแนวทางการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบท่อน้ำดีและตับอ่อน เช่น นิ่วในท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อน ท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนที่ตีบตัน
  • EUS การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูรอยโรคอวัยวะที่อยู่นอกผนังของระบบทางเดินอาหารและสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อทำการตรวจได้ รวมไปถึงทำการรักษาในกรณีที่การส่องกล้องแบบปกติไม่สามารถทำได้ โดยการส่องกล้องผ่านทางปากหรือทวารหนัก
  • FTRD อุปกรณ์ส่องกล้องเพื่อตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นภาวะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งระยะเริ่มต้น ได้มากถึง 3 ซ.ม. โดยที่ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
  • TIF อุปกรณ์ส่องกล้องเย็บหูรูดหลอดอาหาร ด้วยการส่องกล้องผ่านทางปาก เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อนโดยไม่ต้องผ่าตัด
  • ESG อุปกรณ์ส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร เพื่อลดน้ำหนัก โดยไม่ต้องผ่าตัด สามารถลดน้ำหนักได้กว่า 20% ของน้ำหนักตัวเดิม หรือ 30-40% เมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มี ‘คลินิกตับอ่อน’ ที่รักษาผู้ป่วยโรคในตับอ่อนโดยเฉพาะ เช่น มะเร็งตับอ่อน โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มี Multidisciplinary Tumor Board รวมแพทย์ที่เกี่ยวข้องหลากหลายสาขา เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดร่วมกัน นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีรังสีแพทย์และพยาธิแพทย์ที่ชำนาญทางด้านมะเร็งตับอ่อนโดยเฉพาะ ศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดตับอ่อนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันโรคมะเร็งตับอ่อน ได้ด้วยการตรวจยีนที่มีความเสี่ยงสูง โดยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของเอเชียที่สามารถให้บริการตรวจค้นหามะเร็งตับอ่อนในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ตามมาตรฐานของโรงพยาบาล Johns Hopkins ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแรกของโลกที่เน้นการตรวจค้นหาในด้านนี้ หากเราตรวจค้นหาโรคได้เร็ว ก็จะรักษาได้ง่ายขึ้น และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ซึ่ง ‘คลินิกพันธุกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร’ มีประโยชน์อย่างมากในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็ง รวมถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร และ 45 ปีสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผศ.นพ. พิเศษ พิเศษพงษา แพทย์ชำนาญการด้านทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ‘คลินิกโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง’ ให้การดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่วินิจฉัยและรักษาได้ยาก ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายปนมูกหรือเป็นเลือด หรือมีอาการปวดท้องเรื้อรัง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการของอวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ข้ออักเสบ ตาอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ เนื่องจากการวินิจฉัยและการรักษาโรคนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก จึงต้องการการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งรวมถึงการย้อมพิเศษต่างๆ, การตรวจเลือด,การตรวจอุจจาระและการตรวจทางรังสีวิทยาต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค, ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนและประเมินความรุนแรงของโรค   รวมถึงยังต้องการการรักษาที่เหมาะสมและการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ อายุรแพทย์ทางเดินอาหารด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, รังสีแพทย์, ศัลยแพทย์, พยาธิแพทย์, กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, สูตินรีแพทย์, อายุรแพทย์โรคข้อ, อายุรแพทย์โรคผิวหนัง, พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ, นักโภชนาการ และ นักจิตวิทยา โดยทางศูนย์มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐานในระดับโลก โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ

พญ. วิภากร เพิ่มพูล แพทย์ชำนาญการด้านทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “โรคตับ เป็นปัญหาที่ประชากรทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ ‘คลินิกโรคตับ’ ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ รวมทั้งทีมวินิจฉัยไปจนถึงการรักษาโรคที่ซับซ้อน อาทิ โรคที่พบได้บ่อยอย่าง ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ก้อนเนื้อในตับ ไขมันพอกตับ และ มะเร็งตับ ซึ่งเรามีการรักษาตั้งแต่การให้ยา, การใส่สารเคมีในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ, การใส่กัมมันตภาพรังสีเข้าไปที่ตับ ไปจนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยสามารถมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้อย่างครบวงจร”

รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ แพทย์ชำนาญการด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “มีคนจำนวนไม่น้อย ที่มีอาการทางเดินอาหารบางอย่าง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ลมเยอะ บางครั้งถ่ายยาก บางครั้งท้องเสีย แต่เมื่อส่องกล้องแล้วก็ไม่เจอความผิดปกติที่ชัดเจน หลายท่านมีปัญหาน้ำหนักเกิน ไขมันพอกตับ ไขมันในเลือดสูง แต่คุมอาหารและออกกำลังแล้ว ก็ไม่สำเร็จ เมื่อหาสาเหตุไม่พบ หลายท่านก็พยายามแก้ปัญหาตามโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเป็นการเสี่ยงและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์รู้ว่าปัญหาสุขภาพดังกล่าว อธิบายด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่สมดุล จึงได้พัฒนาการบริการในการดูแลสุขภาพในเชิงลึกถึงระดับจุลินทรีย์และให้บริการภายใต้‘คลินิกไมโครไบโอมแบบบูรณาการ’ เพื่อรักษาและแก้ไขปัญหาทางเดินอาหารให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้อย่างละเอียด ด้วยการตรวจอุจจาระและปัสสาวะ, การตรวจประเมินการย่อยและการดูดซึมอาหาร, การปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยการช่วยเลือกโปรไบโอติกส์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยอิงกับผลการวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ นับเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งการป้องกันและการรักษาเพื่อดูแลสุขภาพลำไส้ของเราให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน”

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นผู้นำในการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติเกี่ยวกับการแปลผลและการปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สถาบันหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 2 อาคาร B (อาคารโรงพยาบาล) โทร. 02 011 2167-8 หรือโทร. 1378