April 24, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

สวก.หนุน ‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจ ลดมลพิษอย่างยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดัน โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (คาร์บอนเครดิต) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงเจตจำนงขององค์กรในการขับเคลื่อน สร้างกลไกสำคัญการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตรของประเทศไทย สนับสนุนทุนวิจัยที่พัฒนาและผลักดันการสร้างกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนในอนาคต พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยและลดภาวะโลกร้อน และสร้างโอกาสการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยกับธุรกิจอาหารในเวทีโลก
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ทั่วโลก รวม 48.94 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 354.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 0.9 ของโลก ซึ่ง TGO หน่วยงานที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมโครงการและตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการหรือการขึ้นทะเบียนโครงการ เกี่ยวกับการอนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง ดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจหรือผู้ประเมินภายนอกสำหรับการขอเครื่องหมายรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการประเมินผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. เผยถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่มีต่อภาคการเกษตรและการเกิดก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของภาคการเกษตร ว่า
“ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลรุนแรง และรุนแรงขึ้นทุกปี จะเห็นว่าหลายปีมานี้เรามักจะได้ข่าวแล้งมาก น้ำท่วม พายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตรเพราะเกษตรกรจะปรับตัวไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลกับรายได้ การลงทุนใหม่ที่ถือว่าเป็นต้นทุน แต่กิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างก็ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ดังนั้น ในภาคการเกษตรมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยซึ่งเฉลี่ยแล้วในภาคการเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ ร้อยละ 14.72 ต่อปี
กลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในภาคการเกษตร คือ การทำนาข้าว ขั้นตอนของการเตรียมแปลงนาที่เกษตรกรมีการขังน้ำในแปลงเพื่อย่อยตอข้าว ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะช่วงของการปล่อยน้ำเข้านา นาข้าว 1 ไร่ อาจเกิดก๊าซมีเทนได้ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันกิโลคาร์บอน และก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการใช้น้ำมันตั้งแต่ 1-100 ลิตร และอีกกลุ่มคือปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงหมู หรือกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั้งหลาย มีผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มเกษตรพืชผัก พืชสวน การใส่ปุ๋ยที่มากเกินไปก็ส่งผลต่อการปลดปล่อย ไนตรัสออกไซด์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายไนโตรเจนในดินของจุลินทรีย์และเปลี่ยนรูปเป็นไนตรัสออกไซด์ เราต้องสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงกับเกษตรกร เพื่อรับมือ เลี่ยง หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ความสำคัญของปัญหานี้ คือ เกษตรกรเองไม่รู้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดการสะสมของก๊าซ วันนี้เราจึงต้องมาสร้างกระบวนการทำงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลรวบรวมองค์ความรู้ร่วมกัน
เกษตรกรต้องเรียนรู้เรื่อง คาร์บอนเครดิต สวก. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทางสวก.จึงเร่งผลักดันด้วยหลายเหตุผล คือ กิจกรรมทางเกษตรบางกิจกรรมเป็นแหล่งปล่อยก๊าซ จะเกี่ยวข้องการกับจัดการพื้นที่เกษตร ซึ่งถ้าจัดการได้ดีจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ เช่น ในระบบเกษตรอินทรีย์ ผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกรเอง ภัยแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตเสียหาย ขาดรายได้ ขาดทุน เกษตรกรต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในอนาคต ข้อกำหนดทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการเรียนรู้เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้ชุมชน”

ด้าน คุณอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้ความรู้ความเข้าใจขยายความกับคำใหม่ “คาร์บอนเครดิต” ที่มีขึ้นมาในวงการสิ่งแวดล้อมว่า
“คาร์บอนเครดิต ได้มาจากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” หรือในระดับโครงการ เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่าเป็นต้น โดยเริ่มจากผู้พัฒนาโครงการ หรือเจ้าของโครงการจะต้องเลือกว่าจะดำเนินโครงการตามมาตรฐานใด เช่น ตามแนวทาง GHG Protocol for Project Accounting, ISO 14064-2 หรือ ในสมัยก่อนถ้าต้องการนำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอนภาคทางการ ก็จะต้องดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์ของกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) หรือถ้าขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจก็เลือกมาตรฐานต่างๆ ที่อยู่ในตลาดภาคสมัครใจ เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่า T-VER หรือเลือกพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีมากมาย อาทิ Gold Standard, Verified Carbon Standard (VCS) หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น VERRA, CCB Standard, Plan Vivo เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศลดลง นอกจากนี้ หากโครงการดังกล่าวมีการขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ผู้พัฒนาโครงการมีรายได้เพิ่ม ซึ่งถ้าหากผู้พัฒนาโครงการคือชุมชนหรือเกษตรกร ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือเกษตรกร ส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

สำหรับการที่เกษตรกรจะสามารถค้าขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคตนั้น คุณอโณทัย ได้เสริมว่า “เริ่มจากส่งเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพเรื่องการจัดทำโครงการ T-VER เพื่อให้เกิดการรับรองคาร์บอนเครดิต โดยหน่วยงานรัฐอาจจะต้องสนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเทคนิควิชาการ และเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการฯ เช่น ค่าจ้าง Third-party มาทำหน้าที่ตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ จากนั้น TGO สามารถจัดกิจกรรม Business Matching สร้างโอกาสในการพบปะเจรจาระหว่างผู้ซื้อกับผู้พัฒนาโครงการ ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ ซึ่งในปัจจุบัน TGO ได้จัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น / ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเป็นกลุ่มที่สร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย อันจะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ”

ขณะที่ คุณนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เผยถึงความต้องการของกรีนคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม และโอกาสที่จะอุดหนุนกรีนคาร์บอนจากภาคการเกษตร รวมทั้งความคาดหวังด้านตลาดเกษตรในตลาดโลก เมื่อมีการจัดการกับคาร์บอนเครดิตได้
“ในภาพรวมคือมีความต้องการกรีนคาร์บอนในปริมาณมากแน่นอน และโอกาสที่จะซื้อคาร์บอนจากภาคเกษตรก็มีสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรายกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เป็นระดับสากลได้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในเกษตรกรส่วนความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะ EU จะไปทางสินค้าสีเขียวมากขึ้น เรามองเห็นอุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขี้นในอนาคตที่ไม่ไกลนัก จึงเสนอว่าต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้โดยเร็ว คิดว่าควรเริ่มกระบวนการสร้างการรับรู้ และการปรับตัวโดยไม่ชักช้า”


ดร.สุวิทย์ ยังทิ้งทายเรื่องการผลักดัน โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (คาร์บอนเครดิต) เอาไว้ว่า “อยากเห็น Methodology ในด้านการเกษตรต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาระยะสั้น ซึ่งทาง สวก.จะพยายามผลักดันให้เต็มความสามารถ ที่จะค้นหานักวิจัยมาร่วมพัฒนาโครงการ เพื่อส่งต่อไปยัง TGO อยากเห็นการส่งต่อโครงการกรีนคาร์บอน เพื่อให้ทางภาคอุตสาหกรรมได้อุดหนุน ส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดรายได้จริง ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรได้เกิดการปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ เพราะไม่อยากให้เกษตรกรรู้สึกว่าเป็นภาระหรือการจัดการที่ต้องเพิ่มขึ้น อยากให้เห็นภาพชัดว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลดีต่อเกษตร ชุมชน สังคมอย่างไร สุดท้าย ทาง สวก.อยากเห็นปริมาณการปล่อยการเรือนกระจกลดลงทั้งในภาคการเกษตรและภาพรวมของประเทศ คือถ้ามีการลดการปล่อยจากภาคใดภาคหนึ่งตัวเลขจะต้องลดลง ในแต่ละส่วนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ซึ่งถ้ากระบวนการทั้งหมดที่ได้คุยกันอย่างต่อเนื่อง คิดว่าไม่นานจะได้เห็นโครงการที่ได้รับการรับรอง ทั้งนี้ต้องฝากความหวังนี้ไว้กับทาง TGO และทางสภาอุตสาหกรรมด้วย เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีเครือข่าย และ สวก.ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”


การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม เป็นแนวทางที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุน เมื่อเทียบกับการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคกิจกรรมอื่นๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคป่าไม้ และยังมีแนวโน้มจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระยะยาว (ng-term climate objectives) ได้อีกด้วย
เป็นการเชื่อมโยงของ 3 หน่วยงาน ที่มาทำงานร่วมกันใน โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (คาร์บอนเครดิต) เป้าหมายเพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกจับต้องได้ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และลดมลพิษอย่างยั่งยืน

ติดตามแนวคิดงานวิจัยโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร (คาร์บอนเครดิต) ผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา ผลงานวิจัยต่างๆ และทุนวิจัยได้ที่เว็บไซต์ สวก. https://www.arda.or.th/
ติดตามการเสวนาคาร์บอนเครดิตสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดมลพิษอย่างยั่งยืน ได้ที่ https://www.facebook.com/suthichai.yoon/videos/509059280632349 https://www.youtube.com/watch?v=J2h1yLk08Zk