November 22, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

ภาคธุรกิจร่วมระดมไอเดียหาแนวทางเร่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในงาน CEO Forum : SCG ESG Symposium 2024

47 องค์กรเอกชนจากธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจอสังหา ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจน้ำตาล ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผนึกพลังในงาน CEO Forum : SCG ESG Symposium 2024 ร่วมระดมสมองเฟ้น 6 แนวทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 2. มุ่งขับเคลื่อนจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ 3. การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจก 4. การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง 5. การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 6. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลอง เพื่อเสนอรัฐบาลผลักดันประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เพื่อการผลักดันแผนการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เอสซีจีได้ชวนตัวแทนภาคธุรกิจเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ และหาแนวทางความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net Zero ตลอดจนสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลการระดมสมองใน 6 หัวข้อ ดังนี้

1. มุ่งขับเคลื่อนการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ (Waste Management) การนำของเหลือใช้มารีไซเคิลให้เกิดมูลค่าสูงสุดเป็นวิธีจัดการที่ดีที่สุด โดยปัจจุบันพบว่าเศษวัสดุเหลือใช้ในประเทศไทยถูกนำไปรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 20 จึงเสนอ 2 ทางออก คือ บริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ต้นทางผ่านการคัดแยกเพื่อให้รีไซเคิลง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนภายในพื้นที่หรืออาคารต่าง ๆ นอกจากนี้ ภาครัฐควรออกกฎข้อบังคับ โดยเริ่มจากตลาดค้าส่งเป็นต้นแบบ จากนั้นจึงขยายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ก่อนออกกฎหมายบังคับการคัดแยก และการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานในการบริหารการจัดเก็บภาษี Extended Producer Responsibility (EPR) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการนำภาษีที่ได้ไปบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและโปร่งใส

2. การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) การใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล คือทางออกที่ยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ที่บรรจุภัณฑ์ยังไม่สามารถคงความยาวนานของอายุสินค้า ดังนั้น ภาครัฐบาลจึงควรมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น ด้านภาษี หรือด้านการลงทุนการทำวิจัยให้ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลที่ใช้ได้จริงในราคาเข้าถึงได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรเน้นสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เช่น การออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญของการร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลในระยะยาว

3. การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก (How to Raise Awareness and Support SMEs Towards Green Transition SMEs) จากผลวิจัยพบว่า SMEs มีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรบุคคลและเงินทุน จึงแนะนำให้ SMEs มองว่า ESG คือโอกาสในการทำธุรกิจ และมองหาตลาดและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีความต้องการสินค้ารักษ์โลก  อีกทั้งหากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด   ก็จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐเองควรสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และให้ Green Priority เพื่อช่วย SMEs เร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อไม่สูญเสียโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

4. การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG and Waste Reduction in Construction Design)เสนอการจัดการ 3 ช่วง ตั้งแต่ (1) ต้นน้ำ โดยกระตุ้นให้ผู้ออกแบบอาคารคำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง Embodied carbon ที่เกิดจากการใช้วัสดุก่อสร้าง และ Operational carbon ที่เกิดจากการใช้พลังงานในช่วงการบริหารใช้งานอาคาร       (2) กลางน้ำ ให้รัฐบาลมอบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระหว่างการก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำ หรือมีการให้ค่า Floor to Area Ratio (FAR) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 สำหรับอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว (LEED) และ (3) ปลายน้ำ การจัดการวัสดุก่อสร้างเหลือใช้ให้สามารถนำกลับเข้ากระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด

5. การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง (GHG and Waste Reduction in Construction Value Chain) อาคารทุกหลังมี Carbon Footprint of Products ที่สูง ใช้พลังงานมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การก่อสร้าง จนถึงการบริหารอาคาร ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนผู้ก่อสร้างควรใช้วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ และถ่ายทอดองค์ความรู้และความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังผู้รับเหมา เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาครัฐควรมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาคารที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเจ้าของอาคารต่อได้ 

6. การใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition & Saraburi Sandbox) จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ผลิตปูนซีเมนต์ปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดทั้งในกระบวนการผลิต และการขนส่ง ซึ่งภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน เช่น ผู้ผลิตรถไฟฟ้าร่วมมือกับผู้ติดตั้งหัวชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดหา และส่งมอบพลังงานสะอาดแก่ภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศ “Green Infrastructure” รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ด้วยแนวทาง Waste to Material ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้วัสดุเหลือใช้เกิดมูลค่าสูงสุด และเกิดการขยายผลของสระบุรีแซนด์บ็อกส์ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ  เช่น อยุธยา

“นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ที่มีผลประกอบการรวมกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.25 ล้านล้านบาท ร่วมผนึกกำลัง หาทางออก เพื่อเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นได้จริง สร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถการแข่งขัน เพื่อเศรษฐกิจไทยที่เติบโตยั่งยืน  เพราะ ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” นายธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม