November 25, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

sacit เฟ้นหา 25 ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย สืบสานภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ล้ำค่า ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เผยความสำเร็จในการเฟ้นหา  สุดยอดผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ยกย่องเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 และสื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ หวังให้   ภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างคงอยู่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา เพื่อให้เกิดการสืบสานและภาคภูมิใจ  ในอัตลักษณ์ความเป็นไทย

นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า sacit  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุด ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน    คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และเกิดความภาคภูมิใจ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิด เชิงสร้างสรรค์ สู่ความร่วมสมัย อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ซึ่ง sacit  ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 14 ปี แล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบโดยนำนวัตกรรมผสานความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าและอัตลักษณ์ความเป็นไทย  และสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

ในปี 2566 นี้ sacit ได้ดำเนินการเฟ้นหาผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อนำมายกย่องเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม โดยมีหลักเกณฑ์ในการเฟ้นหา  ที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ มิติด้านการอนุรักษ์ สืบสาน , มิติด้านทักษะฝีมือ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น , มิติด้านการพัฒนา สร้างสรรค์ผลงานเชิงร่วมสมัย และมิติด้านสังคม ในสาขางานศิลปหัตถกรรม 9 สาขา ได้แก่   1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน  3. เครื่องดิน  4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย จนได้ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 1 ราย ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 14 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย รวมทั้งสิ้น 25 ราย และเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากในปัจจุบัน อาทิ เครื่องทอง เครื่องเงินยัดลาย , บุดุนโลหะ , ผ้าไหมลายโบราณ , งานประดับลายปิดทอง , แกะสลักหิน , งานเครื่องไม้ล้านนาและปราสาทนกหัสดีลิงค์ , ว่าวเบอร์อามัส , สลุงเงิน พานเงิน เป็นต้น

การคัดสรรในปีนี้ sacit ได้เปิดกว้างในเฟ้นหาและคัดสรรผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย   โดยให้คำนึงถึงความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติตามยุทธศาสตร์ชาติ อย่างน้องซัน หรือคุณไกรลาส สกุลดิษฐ์ กลุ่มเปราะบางหรือผู้มีความต้องการพิเศษ ที่มีความสามารถในด้านการสร้างสรรค์ผ้าทอมือด้วยกี่ 2 ตะกอ ที่มีสีสันสดใส สวยงาม ผสานกับความคิดสร้างสรรค์แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น จนได้รับคัดเลือกยกย่องเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่สามารถใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยพึ่งพาตนเอง และทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน  และสังคมได้ ซึ่งทุกท่านที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุนในกิจกรรมที่จัดโดย sacit เช่น การเผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ , การเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ   และการสร้างสรรค์หรือนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป 

sacit ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมไปพบกับครูและชื่นชมงานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นบรมครู ได้ที่งาน อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤษภาคม 2566 ณ ฮอลล์ EH 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และขอเชิญชวนประชาชนร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานฯ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ณ บริเวณ ฮอลล์ EH 100 ระหว่างเวลา 10.30 – 17.00 น.