October 6, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

สมศ. รายงานผลการประเมินฯ ปี’65 รวมกว่า 19,500 แห่ง พบจุดต้องเร่งส่งเสริม ย้ำปี 66 ยังประเมินออนไลน์ พร้อมพัฒนาสารสนเทศลดภาระสถานศึกษา

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. สรุปผล การดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกประจำปี 2565 พบว่า มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินฯ กว่า 19,558 แห่ง เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งหลังจากประเมินฯ พบจุดที่ควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาของสถานศึกษา ทั้ง 3 ประเภท ดังนี้ 1) การสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข 2) การสร้างนวัตกรรมของสถานศึกษา และการประเมินพัฒนาการก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และ 3) การส่งเสริมให้ผู้สอนพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชน ด้านรูปแบบการประเมินฯ ปี 2566 สมศ. ยังคงใช้รูปแบบการประเมิน 2 ระยะ คือ การประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) และ การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐาน พร้อมทั้งยังคงเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน ในการพัฒนาและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) เพื่อเป็นการลดภาระให้กับสถานศึกษา

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์  รักษาการประธานกรรมการ สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด19 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินฯ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 19,558 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จากเดิม จำนวน 18,000 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น ศูนย์พัฒนาเด็ก 7,009 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน 11,341 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ 317 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษโรงเรียนนานาชาติ 50 แห่ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 415 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 384 แห่ง และ ระดับอุดมศึกษา 42 แห่ง ซึ่งจำนวนของสถานศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการประเมินในปีงบประมาณ 2564 – 2565 รวมทั้งสิ้น 40,835 แห่ง จากจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด 60,335 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.68 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถานศึกษาต่อ สมศ. ถึงการดำเนินงาน และการประเมินรูปแบบใหม่ที่ไม่สร้างภาระให้กับสถานศึกษา รวมถึงสถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ประเมินภายนอกนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพได้จริง

หลังจากที่ได้ประเมินฯ พบว่า แต่ละประเภทสถานศึกษามีจุดเด่นแตกต่างกัน ด้านจุดเด่นได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ส่วนข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา สมศ.ได้ให้ข้อเสนอแนะ โดยแบ่งตามประเภทของสถานศึกษา ดังนี้

• การศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จุดเด่น คือการมีส่วนร่วมของ ชุมชน ผู้ปกครอง  การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ มีการจัดบรรยากาศการเรียนที่ดี ครูและผู้ดูแลเด็กมีความรู้ในการจัดประสบการณ์ เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัยและมีสุขนิสัยที่ดี มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษาและท้องถิ่น โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข พัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ รวมถึงสื่อในรูปแบบ Online  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจนตามกระบวนการคุณภาพ PDCA

• การศึกษาขั้นพื้นฐาน จุดเด่น คือผู้เรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย มีความสุขกับการเรียนรู้ และมีการส่งเสริมทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดี มีการบริหารงานมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือสถานศึกษาควรส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรม และสื่อ Online เพิ่มมากขึ้น และควรมีการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

• ด้านการอาชีวศึกษา จุดเด่น คือผู้เรียนมีทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงาน โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการพัฒนาการสอนในระบบทวิภาคีให้มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ครูพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชนให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

Asia businesspeople wear face mask using desktop talk to colleagues discussing brainstorm about plan in video call meeting in new normal office. Lifestyle social distancing and work after coronavirus.

“สำหรับสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินแล้ว พบว่าหลายสถานศึกษามีการนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และตรงกับวัตถุประสงค์หลักของ สมศ. อีกทั้งอยากสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาว่า การประเมินฯ นั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมศ.ได้ปรับแนวทางการประเมิน และพัฒนาผู้ประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการประเมินตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็ว และก้าวทันสถานการณ์โลก ที่สำคัญอยากให้ตระหนักว่าการประเมินฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ยังคงมุ่งเน้นเดินหน้าในการสร้างคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับนานาชาติ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในการการประเมินอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่ประชุมเครือข่ายการประกันคุณภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APQN) ที่ทุกประเทศสมาชิกมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์มาใช้ รวมถึงรูปแบบการตรวจเยี่ยมเสมือนจริง (Virtual Assessment) โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ตั้งเป้าหมายสถานศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจำนวน 13,212 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เหลืออยู่ทั้งหมดและยังไม่ได้รับการประเมินในช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการประเมินฯ ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะที่ 1 เป็นการประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นการประเมินตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 49 และการประเมินระยะที่ 2 เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษาในรูปแบบการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของสถานศึกษาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประเมินทั้ง 2 ระยะ เป็นการประเมินที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษา

พร้อมกันนี้ สมศ. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนการประเมิน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย สมศ.ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ / กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย / กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ในการพัฒนาเชื่อมต่อและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) ร่วมกันโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ สถานศึกษาจะจัดส่งรายงานประเมินตนเอง (SAR) ให้กับหน่วยงานต้นสังกัด จากนั้นหน่วยงานต้นสังกัดจะรวบรวมไฟล์ SAR ของสถานศึกษาจัดส่งเข้าสู่ระบบ e-SAR เพื่อจัดเก็บรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ และประหยัดเวลาตั้งแต่เริ่มการประเมินไปจนสิ้นสุดการประเมิน ตลอดจนพัฒนาระบบการออกใบรับรอง (e-Certificate) ให้กับสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและรับรองรายงานผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว

“ทั้งนี้การประเมินคุณภาพของ สมศ.ในช่วงนี้จะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ให้สถานศึกษาได้ทราบระดับคุณภาพสถานศึกษาของตนเองในปัจจุบัน โดยเทียบกับการประเมินในรอบที่ผ่านมา เพื่อที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในกระบวนการประเมินนั้น สมศ. ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องกังวลว่าการประเมินคุณภาพภายนอกจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้ เพราะการประเมินจะดำเนินการตามบริบทของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด และในส่วนของสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกไปแล้วนั้น ขอให้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. ในด้านต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและต่อยอดพัฒนาไปสู่ระดับสากล ต่อไป” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย