จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่ม “โรคหัวใจ” และหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก หรือประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติกระทรวงสาธารณสุขในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 6 หมื่นราย โดยอุบัติการณ์ล่าสุดพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน หรือ ทุก 30 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดถึง 1 คนเลยทีเดียว
ชวนให้จินตนาการถึงเสียงเข็มวินาทีของนาฬิกา บอกถึงการนับถอยหลังถึงภัยของโรคหัวใจที่คร่าชีวิตคนไทยไปอย่างอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึงอันดับ 3 ของไทยเลยทีเดียว ซึ่งโรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเยอะที่สุดทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ที่น่าตกใจคือ พบว่าปัจจุบันมีสถิติพบคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากด้วยเช่นกัน
แพทย์หญิงปีนัชนี ชาติบุรุษ ประธานมูลนิธิดวงใจใหม่ และนายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศ เล่าว่า “ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็ง และสาเหตุของการเกิด โรคหัวใจ นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ไม่มีสาเหตุที่ตายตัวแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจบ่งชี้ว่าน่าจะมีส่วนในการพัฒนาไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้นั้นสามารถแบ่งเป็น 2 ปัจจัยเสียงใหญ่ๆ คือ
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ อาทิ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่กับที่ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
และปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปัจจัยเสี่ยงจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น, ปัจจัยจากฮอร์โมนเพศเช่นผู้หญิงที่อยู่ในวัยหลังหมดประจำเดือน และกรรมพันธุ์ เป็นต้น โดย โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้จากโรคหัวใจทุกชนิด”
แพทย์หญิงปีนัชนี กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีมีศักยภาพในการทำผ่าตัดได้ 600 -700 คนต่อปี เช่นเดียวกับตัวเลขผู้รับการผ่าตัดโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับการผ่าตัดจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมีขีดความสามารถ 100 จนถึง 1,000 เคส ปัจจุบันก่อนสถานการณ์โควิดระบาด โรงพยาบาลราชวิถีทำการผ่าตัดโรคหัวใจจำนวน 680 เคส นอกเหนือจากคนไข้ของโรงพยาบาล รวมถึงคนไข้เด็กที่ส่งมาจากโรงพยาบาลเด็กที่รับผิดชอบโดยตรง ทีมแพทย์ยังต้องผ่าตัดคนไข้เคสยากๆ จากโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่อยู่ในการดูแลของราชวิถีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ทีมแพทย์ศัลยกรรมหัวใจ และทีมพยาบาลมีความเชี่ยวชาญและมีความชำนาญมาก จะมี “ข้อจำกัด และข้อที่เหลือเฟือ” ข้อจำกัดในเวลาคือ ทีมงานแพทย์สามารถทำงานได้ ประมาณ 680 เคสต่อปี อย่างไรก็ตาม ในทุกปีจะมีคนไข้ที่ต้องรออยู่ในคิวประมาณ 300 คน ซึ่งต้องใช้เวลารอนาน 6 – 8 เดือน อาจจะเพิ่มกว่านั้น
“แม้จำนวนกำลังพลและความพร้อมจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีมากเพียงใด แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านการรักษา ยังคงทำให้มีผู้ป่วยยากไร้จำนวนไม่น้อย ที่อยู่ระหว่างรอการช่วยเหลือด้านการผ่าตัด ในขณะนี้มีมากถึง 197 ราย นั่นเท่ากับว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รอเวลาเพื่อนับถอยหลัง ในวาระเนื่องใน วันหัวใจโลก วันที่ 29 กันยายน 65 นี้ มูลนิธิดวงใจใหม่จึงอยากเชิญชวนคนไทยทุกท่านมาร่วมเป็น “ผู้ให้” เพื่อส่งต่อจังหวะการเต้นของหัวใจแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ยากไร้ ให้กลับมามีจังหวะที่สดใสอีกครั้ง ด้วยไปด้วยกัน” แพทย์หญิงปีนัชนี ทิ้งท้าย
ยังมีอีกหลายชีวิตที่กำลังรอการเดิมพันเพียงลำพัง มาร่วมกันสร้างกุศลต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ หยุดเวลาคร่าชีวิต ด้วยการเป็นผู้ให้ ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ยากไร้ ได้ผ่าตัวหัวใจทันเวลา และมาร่วมสร้างกุศลด้วยการต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์เนื่องในวันหัวใจโลก 29 กันยายน กับมูลนิธิดวงใจใหม่ ได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิดวงใจใหม่” ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาโรงพยาบาลราชวิถี บัญชีเลขที่ 051-2-65450-7 หรือโทร. 081 915 3651 เพื่อช่วยผู้ช่วยยากไร้ ให้ได้ผ่าตัดหัวใจ เพราะไม่รู้ว่ากว่าจะได้คิว…จะยังมีลมหายใจอยู่ไหม?
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก