สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ติดตามมาตรการปรับปรุงทางม้าลายและการติดตั้งสัญญาณเตือนไฟ บริเวณหน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พบสถิติคนปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้น เน้นย้ำเสริมสร้างความรู้จราจรเริ่มต้นที่โรงเรียน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า กลุ่มคนเดินเท้าถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนที่มีความเปราะบางมากที่สุด และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด สิ่งสำคัญทางม้าลายควรเป็นพื้นที่ที่เป็น “สิทธิความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้รถและใช้ถนน” ดังนั้นเราควรช่วยการดูแลทางม้าลายให้เป็นที่ปลอดภัย เพราะเชื่อว่าทุกคนคือหนึ่งในผู้ที่ต้องเดินเท้าเช่นเดียวกัน และมาตรการสำคัญคือเรื่องของการจำกัดความเร็ว โดยเฉพาะในเขตชุมชนจะช่วยลดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงได้ โดยมองว่าโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักเรื่องกฎจราจร และสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้
โดยสรุปสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความสูญเสียให้ได้ แบ่งออกเป็น3ข้อ ได้แก่ 1. การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ฝึกฝนให้เด็กมองซ้ายมองขวา 2.จำกัดการใช้ความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน หรือในพื้นที่ชุมชนความเร็วแนะนำไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับขี่และคนซ้อน โดยอย่ามองว่าการเดินทางในระยะสั้นๆ และไม่สวมหมวกนิรภัยคงไม่เป็นอะไร เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ
“อย่างในตัวเมืองขอนแก่น พบว่า มีทั้งถนนสายหลักและถนนสายรอง โดยเฉพาะถนนสายรองจะมีคนใช้ถนนเยอะ โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน รถจะเยอะมาก การดูแลความเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญ การดูแลทางม้าลายให้ปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นก็รณรงค์เรื่องสวมหมวกนิรภัยอยู่ด้วย ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยแบบครบวงจร”นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
พร้อมเปิดสถิติการเก็บข้อมูลทางม้าลาย12จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า เดิมทีมีรถหยุดให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเพียงร้อยละ8 ถึงร้อยละ9เท่านั้น และได้ทำการสำรวจอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่า มีการหยุดรถให้คนข้ามถนนเพิ่มขึ้นจากเดิมมาเป็นร้อยละ12 ชี้ให้เห็นว่าคนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับทางม้าลายมากขึ้น
ด้าน พ.ต.ท.พิทักษ์เขต สิงห์พิทักษ์ รองผู้กำกับการจราจรตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีรถจำนวนเยอะมาก ต่างจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เพราะจำนวนประชากรเยอะ ทั้งชาวขอนแก่นดั้งเดิมและคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ ขณะที่เส้นทางการจราจรมีเท่าเดิม บางคนที่ไม่คุ้นชินกับเส้นทางการจราจรใน จ.ขอนแก่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย ในเรื่องการจราจรทางผู้บังคับการได้เน้นให้ประชาชนเป็นหลัก เน้นเรื่องการกวดขันวินัยจราจร โดยจัดตารางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สอดคล้องกับช่วงเวลา เส้นทาง และปริมาณรถบนท้องถนน เช่น ในแยกที่มีการสัญจรเยอะ หรือ จุดเสี่ยงสำคัญ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอยู่ประจำการ2-3นาย ส่วนในแยกบริการเสริมตามหน้าโรงเรียน จะมีเจ้าหน้าที่จราจรคอยอำนวยความสะดวกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเช่นกัน
“ในเรื่องของทางม้าลาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีแนวปฏิบัติให้สำรวจจุดเสี่ยงทางข้ามทั่วประเทศเลย ซึ่งทางขอนแก่นเราได้ประสานกับท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่น ให้ช่วยทาสีตีเส้นใหม่ จะเห็นว่าทางม้าลายในเขตเทศบาลมีทั้งขาวดำและขาวแดง เพื่อให้ประชาชนสามารถมองเห็นในระยะไกล จะมีป้ายแจ้งเตือนว่ามีทางม้าลาย ติดทางขอบถนนฝั่งซ้าย มีไฟกระพริบ อย่างเช่น ที่บริเวณหน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ก็จะมีสัญลักษณ์ทางข้ามม้าลาย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลนครขอนแก่น ส่วนตามหน้าโรงงานหรือเขตตลาด เขตชุมชน ที่มีการสัญจรของประชาชนจำนวนมาก ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการเช่นกัน” พ.ต.ท.พิทักษ์เขต กล่าว
ที่สำคัญยังกำชับเรื่องความเข้มงวดในวินัยจราจร ดำเนินการจับปรับคนที่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งทำการจับกุมอยู่เป็นระยะ พบว่า หลังเหตุการณ์หมอกระต่ายเสียชีวิต พบว่าสังคมตระหนักมากขึ้น จอดรถให้คนข้าม ไม่จอดรถทับทางม้าลาย
ขณะที่ ร.ต.อ.วัฒนา พิมพิลา รองสารวัตรจราจรตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น กล่าวว่า สภาพการจราจรในขอนแก่นชั่วโมงเร่งด่วนก็จะมีรถหนาแน่น เป็นห่วงนักเรียนนักศึกษาเวลาข้ามถนนมาก จึงอยากขอความร่วมมือให้ใช้ความระมัดระวัง อย่าวิ่ง ค่อย ๆ เดิน เวลาจะข้ามถนนให้มองซ้ายมองขวาให้ดี โดยเฉพาะจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือจุดที่ไม่สัญญาณไฟ รวมถึงคนขับรถเองก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เมื่อเห็นสัญญาณไฟ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
“ผมเป็นครูพิเศษที่จะไปอบรมให้นักเรียนด้วยครับ เวลาได้ไปบรรยายในโรงเรียนต่างๆ ผมก็จะนำความรู้เรื่องกฎจราจร ในเรื่องของประสบการณ์ การข้ามถนน ในเรื่องของการทำหน้าที่เป็นจิตอาสา การหยุดรถ ห้ามรถ ในส่วนนี้พยายามให้น้องๆ หนูๆ หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองที่เดินทางไปรับส่งบุตรหลาน ได้รับความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ในการใช้รถใช้ถนน ในการข้ามทางม้าลาย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนครับ” ร.ต.อ.วัฒนา กล่าว
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก