November 22, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

เครือข่ายงดเหล้า ปลื้ม รร.ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัย Best Practice 12 แห่ง ขยายเป็น 73 แห่ง ร่วมรณรงค์ในฤดูกาลงดเหล้าเข้าพรรษา หวังเป็นวัคซีนปลูกฝังเยาวชนไทยจากปัญหาปัจจัยเสี่ยง สกัดนักดื่มหน้าใหม่ ห่างไกลเหล้าบุหรี่

ประชาคมงดเหล้าจังหวัดพะเยา และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และสถานศึกษาที่มีผลการดำเนินงานเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ลดปัจจัยเสี่ยงหลักจากเหล้า บุหรี่ ในโครงการปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัยและโครงการลดปัจจัยเสี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบบูรณาการ โดยกลไก พชอ.จังหวัดพะเยา ณ โรงแรม วี ซี อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา


​เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า ในเยาวชนเกิดปัญหา ด้านปัจจัยเสี่ยงต่างๆโดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพร่างกายทั้งนั้น ไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ในขณะที่มีราคาที่ถูกมาก และสามารถซื้อออนไลน์ได้ รวมถึงปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงเยาวชนที่อายุน้อยลง มีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าผู้หญิงเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะผู้หญิง ถ้าขาดสติ เรื่องที่จะตามมาอีกหลายสิ่ง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม จริงๆแล้วแอลกอฮอล์ทำลายทุกอวัยวะ เมื่อคนดื่มแอลกอฮอล์มันจะถูกดูดซึม ผ่านกระแสเลือดไปทำลายทุกอวัยวะ ในร่างกาย และข้อมูลการวิจัยที่มีคุณภาพ ระบุว่าไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย และยังระบุด้วยว่า แอลกอฮอล์ อันตรายตั้งแต่หยดแรก ด้วยแอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็ง กินมากหรือกินน้อยก็สามารถก่อมะเร็ง แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลา โดยทำลายระบบของอวัยวะตั้งแต่ปาก หลอดลม ลำไส้ ต่างๆ ไปถึงทวารหนัก อันนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก


นางลออ มหาวรรณศรี ประชาคมงดเหล้าจังหวัดพะเยา ผูรับผิดชอบโครงการลดปัจจัยเสี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบบูรณาการโดยกลไก พชอ.จังหวัดพะเยา กล่าวว่าจากสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจังหวัดพะเยา พบความชุกของการดื่มในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 40.7 สูงเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา,2565) และจากข้อมูลคัดกรองพฤติกรรมการดื่มนักดื่มหน้าใหม่ของเยาวชนอายุ 12-15 ปี พื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พบอัตราความชุกของการดื่ม ร้อยละ 53
การทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดพะเยา ปีที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นที่การปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัยสอนให้เด็กมีทักษะชีวิต การคิด รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงและสามารถแยกแยะ รู้จักปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี มีปัจจัยเสี่ยงเรื่อง สุรา และ บุหรี่ เป็นการฝึกสติผ่านการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามช่วงวัย ช่วยปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพได้อย่างรอบด้าน โดยการดำเนินงานร่วมกับโครงการปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่ ในกลุ่มโรงเรียนในเขต สพป.พะเยา เขต 1 ทั้ง 6 กลุ่มๆละ 2 โรงเรียนรวม รวมจำนวน 12 โรงเรียน มีผลการดำเนินงานเป็นแนวปฏิบัติที่ดีเป็น Best Practice ซึ่งสามารถขยายเครือข่ายโรงเรียนปลูกพลังบวกฯ ลดปัจจัยเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่ ในสังกัดสพป.พะเยา เขต 1 เพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 73 แห่งในปีนี้


นางสาวยิ่งพร เจียตระกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่สุก อำเภอแม่ใจจังหวัดพะเยา ผู้ที่ได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมงดเหล้า บุหรี่ ลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กเยาวชน เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนจึงสำรวจการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ของผู้ปกครอง ซึ่งได้ข้อมูลเป็นที่น่าห่วงใย เราจึงกลับมาหาแนวทางในการร่วมขับเคลื่อนกับชุมชน โดยให้นักเรียนช่วยคิด ซึ่งคำตอบของเด็กๆคือ พวกเขาต้องการให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเลิกเหล้า บุหรี่ ทางโรงเรียนจึงให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิดข้อความผลิตสื่อ เพื่อการสื่อสารในกิจกรรมของชุมชน จัดให้เป็นห้องเรียนสีขาว คือต้องปลอดอบายมุขทุกประเภท มีการแต่ตั้งคณะกรรมการในระดับพี่ๆ และ คิดหากิจกรรมที่มาร่วมขับเคลื่อนในส่วนนี้ เด็กๆได้ทำการ์ดเล็กๆ เพื่อจะกลับไปสื่อสารกับผู้ปกครอง หลังจากนั้น เด็กๆจะมาเล่าว่า “เมื่อวานพ่อผมไม่ดื่มเหล้าครับ” “พ่อหนูไม่ได้ดื่มเหล้า 2 วันแล้วนะคะ” กิจกรรมในช่วงเข้าพรรษา นับเป็นการช่วยให้เกิดการลด ละ และอาจจะเลิกได้ในที่สุด ทั้งนี้สามารถช่วยลด พฤติกรรมการดื่ม-การสูบ ได้ประมาณ 40 % เป็นกิจกรรมที่น่าภูมิใจของทางโรงเรียนที่จะค่อยไปลูกฝัง ให้เด็กๆ ช่วยเป็นสื่อกลางในการรณรงค์ครั้งนี้


นางสาวสายฝน จตุพร ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านจำปาหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากเข้าอบรมโครงการบวกพลังบวกฯ เราจะได้ชุดคู่มือ 2 ชุด เป็นชุดคู่มือกิจกรรมห่างไกลเหล้าและบุหรี่ เราได้นำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนของเรา โดยนำมาผลิตเป็นหนังสือนิทาน BIG BOOK เป็นนิทานเกี่ยวกับการรณรงค์ ซึ่งจะเป็นแผ่นแม่เหล็กแบบสามมิติ เด็กๆก็สามารถเคลื่อนไหวตัวละครได้ ในระหว่างการเล่าเรื่อง สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กๆ แน่นอนว่านิทานจะสารมารถฝึกภาษาให้กับพวกเขาด้วย เสริมสร้างการฟัง การพูดเล่าเรื่องและการจดจำ คุณครูจะให้เด็กๆทบทวน และสรุปกิจกรรมทุกครั้งเกี่ยวกับ โทษภัยและผลลัพธ์ของเหล้า-บุหรี่ ซึ่งเด็กทุกคนจะมีส่วนร่วม เมื่อออกมาเล่าเรื่อง ครูจะมีการเสริมทางบวกให้เด็กๆเกิดความมั่นใจมากขึ้น ผลลัพธ์คือเด็กเห็นบุหรี่ของคุณพ่อ จะรีบนำไปทิ้ง ซึ่งผู้ปกครองก็ได้มาสะท้อนให้ครูได้รับทราบด้วย วันนี้ดีใจที่ได้รับคะแนนประเมิน Best Practice เป็นอันดับที่ 1 นำสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบ หลังจากนี้ทางโรงเรียนจะนำไปออกแบบต่อในการทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น เช่นกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ นอกจากนี้เราจะนำไปเผยแพร่สู่เพื่อนภาคีโรงเรียนในระดับจังหวัดและนำเสนอผลงานรูปแบบการวิจัยมาตีพิมพ์ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ในวงกว้างต่อไป


ทั้งนี้โรงเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตร Best Practice เตรียมความพร้อมสู่ การเป็นต้นแบบ 12 แห่ง ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านต๋อม 2) โรงเรียนบ้านภูเงิน 3) โรงเรียนชุมชนบ้านป่าแฝกสามัคคี 4) โรงเรียนบ้านแม่สุก 5) โรงเรียนบ้านจำป่าหวาย 6) โรงเรียนอนุบาลพะเยาบ้านโทกหวาก 7) โรงเรียนอนุบาลภูกามยาว 8) โรงเรียนบ้านร่องปอ 9) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 46 ดอกคำใต้ 10) โรงเรียนบ้านค่า 11) โรงเรียนบ้านปิน 12) โรงเรียนบ้านปางงุ้น ทั้งนี้ มีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายจำนวน 73 แห่ง ในจังหวัดพะเยา