November 25, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

วันไหล บางแสน! สสส. สานพลัง นิด้า-เทศบาลเมืองแสนสุข จัดสงกรานต์ปลอดเหล้า-บุหรี่ สร้างสุขภาวะดีปีใหม่ไทย

ที่ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุขร่วมกับ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมวันไหลบางแสนปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ ประจำปี 2566 เดินหน้าพื้นที่ท่องเที่ยวที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวว่า งานวันไหลบางแสนปีนี้ เป็นการกลับมาจัดเต็ม 100% หลังโควิด-19 คลี่คลาย เน้นงานประเพณีเป็นหลัก เช่น ก่อพระเจดีย์ทรายวันไหล จัดประกวดเต็มรูปแบบอย่างยิ่งใหญ่ แข่งขันกีฬา การละเล่น และจำหน่ายสินค้า มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และเป็นอีกปีที่ได้ร่วมมือกับ สสส. และนิด้า จัดพื้นที่หาดบางแสนปลอดเหล้าบุหรี่ พบว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายหาด ไม่พบเห็นการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนรอบนอกเอกชนอาจจะยังมีปัญหาเรื่องนี้ แต่ถือว่าลดการสูบและดื่มได้มากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ปกครองและสาธารณสุข คอยตรวจตราความเรียบร้อย และจากการย้ายช่วงเวลากิจกรรมเป็นช่วงกลางวันถึง 1 ทุ่ม ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุและทะเลาะวิวาทได้

“พื้นที่เอกชน ต้องเพิ่มการควบคุมเพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุมากขึ้น บริเวณจัดงานถือว่า 100% ไม่มีการทะเลาะวิวาท โดยเรามีด่านตรวจและขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทุกรายที่มีใบอนุญาตร่วมมืออย่างดี ปีนี้จัดงานสงกรานต์วันไหลเต็มรูปแบบ หลังหายไปในช่วง 2 ปี ที่โควิด-19 ระบาดหนัก คาดว่ามีคนร่วมกว่าวันละ 1 แสนคน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะสถิติการจัดงานวันไหล 16-17 เมษายนทุกครั้ง มีเงินหมุนเวียน 100 ล้านบาท คาดว่าปีนี้มากกว่าเดิมราว 20-30%” นายณรงค์ชัย กล่าว

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ได้รับการกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รับรองโดยประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ เนื่องจากการบริโภคยาสูบส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ไม่สูบแต่ได้รับควันมือสอง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากควันมือสองกว่า 6,000 คน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 0.56 ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ในขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้วยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคม อาทิ ความรุนแรง การเกิดอุบัติเหตุทางถนน  ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 1.02 ของ GDP   ที่ผ่านมา สสส. เน้นการสานพลังความร่วมมือจากคนในพื้นที่ งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่บริเวณร้านค้าบนหาดบางแสน รวมถึงการดูแลงดสูบบุหรี่บริเวณชายหาดซึ่งเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว กลับมาเที่ยวซ้ำ เพราะเห็นว่ามีความปลอดภัย

“งานวันไหลบางแสนปีนี้ ใครได้ดูในช่วงค่ำ จะรู้สึกว่ามีบรรยากาศของความอบอุ่น ปลอดภัย เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ครอบครัว มาเดินเล่น มาชมการก่อพระทราย ส่วนประชาชนเห็นได้ชัดว่า เกิดความตระหนักรู้ว่าการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มบนชายหาด หรือสูบบุหรี่บริเวณพื้นที่ห้ามสูบ เป็นสิ่งที่ผิด อาจจะมีการปกปิด ไม่โจ่งแจ้ง แต่ไม่พบการตั้งวงในพื้นที่ชายหาดเลย นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากพบเห็นก็จะเตือนกัน เพื่อช่วยกันสร้างพื้นที่ชายหาดปลอดภัย เข้ามาเที่ยวโดยไม่ต้องกังวล” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

ผศ.ดร. เกศรา สุกเพชร คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายหาดบางแสนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า การร่วมกำหนดให้วันไหลบางแสนเป็นงานปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครือข่ายการลดปัจจัยเสี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในพื้นที่ชายหาดบางแสน เป้าหมายสำคัญคือการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ ด้วยการใช้ฐานความรู้มาช่วยสร้างความเข้าใจปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อให้เกิดการยอมรับของคนในพื้นที่ ต่อนโยบายการห้ามจำหน่ายเหล้า-บุหรี่ บนชายหาด ผ่านการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจนพัฒนาต่อเนื่องเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อให้บางแสนเป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นเมืองน่าเที่ยว ผลของความร่วมมือดังกล่าว ยังส่งผลทางอ้อมให้คนในชุมชนเกิดการปรับพฤติกรรมเป็นแบบอย่างที่ดีอีกด้วย ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวพบแต่ละปีชายหาดบางแสนมีนักท่องเที่ยว 1,800,000 คน โดยปี 2558 มีรายได้เฉลี่ย 5,846 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีรายได้เพิ่มเป็น 10,230 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10,428.45 ล้านบาท ในปี 2562 โดยมีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากขึ้นในช่วงปี 2565-2566 ตามสภาพเศรษฐกิจและการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19

“ทำโครงการมา 3 ปี 1-2 ปีแรก เน้นที่ผู้ประกอบการบนชายหาด ครั้งนี้จะเห็นว่าแต่ละร้านบนหาดบางแสนไม่พบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่โดยกลไกที่เข้าไปทำกับผู้ประกอบการคือ เข้าไปดูช่องว่างที่ทำให้เกิดการขายปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้วดูว่าเกิดผลกระทบอะไรตามมาจากนั้นได้สร้างความรู้เรื่องระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อลดข้อพิพาทในการบังคับใช้กฎหมาย จนเกิดเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย โดยพื้นที่หาดบางแสนส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวเป็นคนไทยรูปแบบครอบครัว ความมุ่งหวังของคนที่มาเที่ยว คือเรื่องความปลอดภัย ทั้งเรื่องอาชญากรรม ควันบุหรี่มือสอง การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่าทำได้ดีขึ้น ” ผศ.ดร.เกศรา กล่าว