November 24, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

ศูนย์คุณธรรมเร่ง งานวิจัย “ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” หวังใช้กับครอบครัวในยุคโควิดนี้

11 สิงหาคม 2564 –  ณ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และหัวหน้าโครงการวิจัย “ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” กล่าวไว้ในเวทีวิชาการออนไลน์ ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรง ถึงครอบครัวคนไทยทั่วทั้งประเทศ   อีกทั้งสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน จากหลากหลายสาเหตุ ก่อให้เกิดพฤติกรรมความเสี่ยงต่างๆ ปัญหาเด็กติดเกม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว  รวมถึงมาตรการการป้องกันและส่งเสริมด้านครอบครัวและชุมชนยังขาดระบบการจัดการที่เข้มแข็ง  แม้ว่าจะมีกลไกภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบส่งผลทำให้เกิดปัญหา  หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่พบได้ในเด็ก เยาวชน และครอบครัว  เช่น การขาดทักษะการจัดการด้านอารมณ์  ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวในรูปแบบต่างๆ จึงเกิดจากการขาดการคิดไตร่ตรองหรือรู้วิธีการจัดการเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา รับมือและแรงกดดันต่างๆได้  รวมถึงการขาดที่พึ่งในบทบาทพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เหมือนเช่นอดีตที่เคยเกิดขึ้น

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวว่า ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ชุดแผนงานโครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” โดยได้รับความมือจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ  เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการโครงการวิจัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมุ่งเน้นการพัฒนาคน  พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในชุมชน  สู่การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาชุมชน  สร้างพลังที่เข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน  เพื่อให้เกิดรูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เป็นรูปธรรมยั่งยืนด้วยการ

  1. พัฒนาศักยภาพคนท้องถิ่น ให้มีทักษะการเป็นพี่เลี้ยง และนำไปสู่โมเดลครอบครัวพลังบวก  ในสังคมที่ไร้ความรุนแรง
  2. พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม  ในรูปแบบภาคีเครือข่ายคนทำงาน ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว     ที่ยั่งยืน
  3. พัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ โดยคนท้องถิ่น ด้วยทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เหมาะสมกับวัยของเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปสู่แผนพัฒนาระดับประเทศ

โดยได้ดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัด 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่

  1. โครงการ Positive Parenting in Family (Promotion Model)

ซึ่งดูแลโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

“ระบบนิเวศน์ของเด็ก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคุณธรรมของเด็ก”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม อธิบายว่า โครงการนี้วางแผน และออกแบบ สร้างระบบพี่เลี้ยงชุมชน มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาศักยภาพ แกนนำพลังบวกในชุมชน โดยใช้กระบวนการเสริมพลังบวก นำจุดแข็งของชุมชน ทุนมนุษย์ ทุนสังคม และจุดแข็งของเด็กและเยาวชน  ทุนชีวิต ทักษะ 5 ด้าน ในการบริหารจัดการชุมชนในการแก้ปัญหา มาเป็นฐานในการพัฒนา ทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน พัฒนาภาคีครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยบริบทของชุมชน

  • โครงการ Healthy Gamer Prevention Model

ดูแลโดย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้กล่าวในเวทีวิชาการว่า ปัญหาเด็กติดเกม เกิดจากผู้ปกครอง ขาดทักษะการสื่อสารและการมีกิจกรรมสัมพันธ์ในครอบครัว จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลองค์ความรู้ เกี่ยวกับการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกม ไปสู่ชุมชน โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ผ่านการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชนนั้น และในหนึ่งหน่วยจะประกอบด้วย พ่อแม่อาสา 1 คน ครูอาสา 1 คน และเยาวชนอาสา 1คน ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการดูแลป้องกัน และแก้ไขปัญหาการติดเกม

  • โครงการ Family Against Violence in Dysfunctional Family (protection model)

ดูแลโดยสำนักงานอัยการสูงสุด และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวในเวทีวิชาการเดียวกันว่า “ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมักถูกละเลย จนถูกมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว”  จนในที่สุด  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยกระดับไปสู่การทำร้ายร่างกาย ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต หรือเกิดเป็นบาดแผลภายในจิตใจ  โครงการได้วางแผนและออกแบบ ผ่านกระบวนการการสร้างกลไกทางสังคม พัฒนาระบบพี่เลี้ยงชุมชน ให้มีความเข้มแข็งบูรณาการเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของเครือข่ายพลังชุมชน และภาคีเครือข่าย ในการร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งในเชิงป้องกัน เฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือ คุณโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9 กล่าวเสริมว่า โครงการจะพัฒนาองค์ความรู้ ศึกษากฎหมายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนากฎหมายที่มีความเหมาะสม ในการใช้แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่เหมาะสมกับบริบทที่นำไปใช้ปฏิบัติ

โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง  มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน  จึงพัฒนาระบบ    พี่เลี้ยงในชุมชน ที่มีทั้งกระบวนการพัฒนาคน พัฒนากลไก และพัฒนากิจกรรมเพื่อการพัฒนา   โดยการเชื่อมโยง และสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง  ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือตัวแทนชุมชนเอง ซึ่งจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้  และการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม สามารถติดตามโครงการได้ที่เวปไซด์ศูนย์คุณธรรม www.moralcenter.or.th โครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง