สสส. จับมือ ศศก.-SAB ส่องพฤติกรรมประชาชนใช้สารเสพติดช่วงโควิด-19 พบนักเสพลดลง ปชช.กักตัว เคอร์ฟิวช่วยสกัดการซื้อขายลำบาก ชี้ คนไทยดูแลสุขภาพมากขึ้น ดื่มน้ำเมาลดลงกว่าครึ่ง 56.4% สูบบุหรี่ลดลง 28.1% แนะรัฐออกมาตรการหนุนคนรักสุขภาพ ในช่วงคนถอยห่างสารมอมเมา
ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลงหรือโดดเพิ่มขึ้น” โดย ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการ SAB เปิดเผยผลสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,825 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี อยุธยา นครปฐม เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา สำรวจเมื่อวันที่ 20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบเห็น/ รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6
ยังพบเห็น/ รับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน โดยผู้ขายครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน
ดร.สุริยัน กล่าวต่อว่า การสำรวจยังได้ถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเสพติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ให้กักตัวอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ถี่ขึ้น การซื้อขายในยามวิกาลทำได้ยากเพราะมีเคอร์ฟิว ขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 6 เกิดจากความเครียด เบื่อหน่าย และมีเวลาว่างมาก ส่วนประเด็นเรื่องการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 42.6 รู้ข่าวการออกกฎหมาย โดยร้อยละ 38.6 เห็นด้วย มองว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้เป็นยา ขณะที่ร้อยละ 24.4 ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ และมอมเมาเด็กและเยาวชนให้ติดยา อย่างไรก็ตาม ควรนำกรณีศึกษาของเสรีกัญชาเป็นตัวอย่าง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ากัญชาคืออะไร ขณะเดียวกันมาตรการควบคุม กำกับติดตาม ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะคนที่ไม่เข้าใจอาจตีความในทางลบ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากผลสำรวจของ SAB ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้สารเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ใช้สารเสพติดร้อยละ 4.6 เป็นผู้ใช้สารเสพติดประเภทใบกระท่อมลดลงถึง 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 39 ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 56.4 สูบบุหรี่ลดลง ร้อยละ 28.1 สาเหตุหลักที่ทำให้ใช้สารเสพติดลดลงมาจากมาตรการ Social distancing ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันประชาชนตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น
“ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี ที่มีการใช้สารเสพติดมากถึงร้อยละ 3.72 ในปี 2562 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้น คือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จะนำผลสำรวจไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานเฝ้าระวัง และเยียวยา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการสำรวจรวมกัน เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย ผลศึกษาเบื้องต้นพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงร้อยละ 42-62 และมีการใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ SAB โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด รวมถึงสารที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวด จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ มีอาการทรุดลง เพราะออกฤทธิ์กดประสาททำให้หายใจช้าลง และระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตาม
“หากโควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2 แพทย์ต้องเตรียมรับมืออาการของโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงในผู้ใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้เสพยาเสพติดถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงที่มีผู้ใช้สารเสพติดลดลง รัฐควรออกมาตรการต่อเนื่องหรือเพิ่มเติมเพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชน ไม่รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้คนในกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงแพทย์ได้อย่างเต็มที่เมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19”
รศ.พญ.รัศมน กล่าว
More Stories
ทีเส็บ ผนึกกำลังความร่วมมือ ประกาศความพร้อม จัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย
’อาจารย์ป๋า -ปุญญาดิศ‘ พราหมณ์เจ้าพิธีตัวจริง ออกโรงเตือน ทุกอย่างต้องเดินทางสายกลาง ทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อย่าเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง
ONNEX by SCG Smart Living ฉลองเปิดพื้นที่ใหม่พบโซนโซลาร์และโซลูชันเพื่อคุณภาพอากาศภายในบ้านพร้อมโปรโมชันตรงใจส่งท้ายปีที่ SCG HOME Experience