ทุกวันนี้ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแล้ว เราจึงถูกรายล้อมไปด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการซื้อสินค้า ข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ เพราะข้อมูลที่มีความหมายอย่างแท้จริง สามารถนำมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้ ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกประมวลผล จัดระเบียบ และนำเสนอในบริบทที่เหมาะสมเท่านั้น
ลองคิดดูสิว่า เราจะสามารถทำอะไรได้มากมายเพียงใดหากเรานำข้อมูล “ที่ไม่ได้ใช้” พวกนี้มาใช้งาน
และด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสของช่องทางนี้ บริษัท โตชิบา ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (Toshiba Data Corporation) จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2020 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสำรวจความเป็นไปได้ในการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมาใช้งานและสร้างประโยชน์ที่จับต้องได้จริงเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยรวม แต่อะไรคือ “ระบบนิเวศการไหลเวียนข้อมูล” ที่บริษัทฯ มีความตั้งใจสร้าง และข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างไร นายทาโระ ชิมาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้แทน บริษัท โตชิบา ดาต้า คอร์ปอเรชั่น และเจ้าหน้าที่บริหาร รองประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล โตชิบา คอร์ปอเรชั่น เผยแง่มุมที่น่าสนใจไว้ดังนี้
ก้าวผ่าน Data 1.0 เข้าสู่ Data 2.0
“ช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับองค์กรของตนอย่างมหาศาลจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน ซึ่งผมเรียกว่าเป็นโมเดลธุรกิจแบบ ‘cyber-to-cyber’ แต่ว่าในปัจจุบัน มันมีความท้าทายหลายประการในการเก็บข้อมูลทางไซเบอร์ เช่น การจำกัดปริมาณข้อมูล และกระบวนการเก็บข้อมูล บริษัททั้งหลายจึงต้องหันมาเริ่มเก็บข้อมูลจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในโลกกายภาพแทน” นายชิมาดะ กล่าว
เราอาจพูดได้ว่า ช่วงเวลาที่ธุรกิจต่าง ๆ สามารถสร้างผลกำไรจากการพึ่งพาข้อมูลไซเบอร์เพียงอย่างเดียวใกล้จะเดินมาสุดทางแล้ว ก่อนหน้านี้ บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้มากมายจากการนำข้อมูลผู้บริโภคมาใช้ในธุรกิจประเภท cyber-to-cyber ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงยิ่งกว่ามูลค่าที่สร้างได้จากบริษัทผู้ผลิตที่มีบริการและเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมหรือโครงสร้างพื้นฐานเสียอีก โดยนายชิมาดะ เรียกยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ cyber-to-cyber นี้ว่ายุค “Data 1.0” แต่ในขณะนี้ เรากำลังจะเข้าสู่ยุค “Data 2.0” ที่เราจะนำเอาข้อมูลที่รวบรวมจากโลกกายภาพมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม หรือยุคที่โลกไซเบอร์และ โลกแห่งความเป็นจริงเชื่อมต่อกัน (cyber-to-physical)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอาศัยอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยบิ๊กดาต้า (Big Data) โดยบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลก IDC (International Data Corporation) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ปริมาณข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกจะเติบโตสูงขึ้นกว่า 5 เท่าระหว่างปี ค.ศ. 2018 ถึงปี ค.ศ. 2025 เรียกได้ว่าเป็นการปะทุของข้อมูลครั้งใหญ่ในเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น และคาดว่าอัตราการเติบโตนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โตชิบาเองก็เชื่อว่าข้อมูลที่เก็บเกี่ยวได้จากโลกกายภาพ เช่น จากอุปกรณ์ในโรงงาน และระบบขนส่งมวลชน จะมีปริมาณสูงท่วมท้นกว่าข้อมูลในธุรกิจไซเบอร์อย่างเทียบกันไม่ติด
“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ข้อมูลจากโลกกายภาพจะกลายเป็นข้อมูลกระแสหลัก ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะเป็นยุคสมัยที่บริษัทอย่างโตชิบา ที่ได้มีการพัฒนาฮาร์ดแวร์รูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด จะสามารถเก็บเกี่ยวศักยภาพทางข้อมูลและนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างความสะดวกสบายในชีวิตให้กับทุกคน” นายชิมาดะ อธิบาย
ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็ล้วนมีข้อมูลอยู่รายล้อมตลอดเวลา เมื่อเราเดินทางไปสถานีรถไฟ เราใช้บัตรผ่านประตูทางเข้าเพื่อขึ้นรถไฟ เมื่อเราเดินทางมาถึงออฟฟิศ เราก็ใส่ข้อมูลมากมายเข้าไปในระบบต่าง ๆ รวมถึงดำเนินการดูแลอุปกรณ์หลากหลายชนิดในบริษัท และเมื่อเราไปที่ห้างสรรพสินค้า เราได้ซื้อของและชำระเงินที่แคชเชียร์ ซึ่งกรณีต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้นั้นเป็นเพียงข้อมูลธรรมดาที่ยังไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยวมาเพื่อใช้งานจริง
ซึ่งนี่จะเป็นจุดที่โตชิบาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ด้วยประสบการณ์ของบริษัทฯ เกี่ยวกับระบบขายหน้าร้าน (POS) เครื่องจักรอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม โตชิบามีความสามารถในการถอดรหัสข้อมูลจากโลกกายภาพ ป้อนเข้าสู่ไซเบอร์สเปซ และนำมาประมวลผลเข้ากับข้อมูลไซเบอร์ที่มีอยู่ เพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่มีมูลค่ายิ่งขึ้น
ในสังคมที่มีข้อมูลมากมายรายล้อมเราแทบทุกลมหายใจเช่นนี้ ความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ และยังมีจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึง
“เวลาที่เรานำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ เราต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการป้องกันข้อมูลอย่างเคร่งครัด เพราะนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและจริยธรรม ซึ่งหนึ่งในความท้าทายหลักที่ธุรกิจต่าง ๆ พบเจอในยุค Data 1.0 ก็คือปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลอาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และนั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการทำงาน” นายชิมาดะ กล่าว
บิ๊กดาต้า กับ… เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
“หลายองค์กรกำลังพยายามผลักดันให้เกิด Co-Creation ผ่านการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ผมคิดว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลกจะกลายมาเป็นรากฐานสำหรับวิธีการดำเนินธุรกิจในอนาคต” นายชิมาดะ เผย
แม้ว่า SDGs จะได้วางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนสำหรับการจัดการปัญหาสำคัญ อย่างปัญหาความยากจน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน แต่นายชิมาดะยังคงเน้นย้ำว่า ข้อมูลคือองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านี้บรรลุผลสำเร็จ โดยแนวทางหลักในการผลักดันเป้าหมายของ SDGs ให้กลายเป็นจริงได้ คือการผสานข้อมูลที่มีเข้ากับหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อช่วยระบุถึงปัญหาที่แท้จริง นำเสนอโซลูชันและขั้นตอนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ ติดตามสถานการณ์ และเข้าถึงทรัพยากรที่อยู่รอบตัว
“SDGs ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 17 ข้อ ซึ่งผมจะขอเน้นไปที่ 2 ข้อเป็นหลัก ได้แก่ ข้อ 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เป้าหมายข้อนี้ไม่ได้เป็นตัวแก้ปัญหาโดยตรง แต่เป็นการวางรากฐานเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถพัฒนาเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย SDGs เช่นเดียวกันกับ ข้อ 17 หุ้นส่วนความร่วมมือ เพราะการแบ่งปันข้อมูลถือเป็นการสร้างรากฐานของการสร้างคุณค่าร่วมกันและการอยู่ร่วมกันในสังคมเช่นกัน” นายชิมาดะ กล่าว
การก่อตั้ง บริษัท โตชิบา ดาต้า คอร์ปอเรชั่น ขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “The Toshiba Next Plan” แผนกลยุทธ์ 5 ปี ที่โตชิบาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2018 เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปบริษัท และนำเสนอโซลูชันสำหรับแก้ปัญหาทางสังคมในด้านต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น แผนกลยุทธ์ฉบับนี้ยังเป็นขั้นบันไดที่บริษัทฯ จะต้องก้าวขึ้นไป เพื่อการเป็นผู้นำด้าน cyber-physical systems อันเป็นคอนเซ็ปต์หลักของแผนกลยุทธ์นี้
“ขั้นแรกคือ เราจะทำการย้ายจากระบบปิดที่เราดำเนินการจัดหาทุกอย่างด้วยตัวเอง มาสู่ระบบที่เปิดมากขึ้น โดยเราต้องการที่จะแข่งขันและสร้างความร่วมมือกับผู้เล่นอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าอย่างแท้จริง ขั้นที่สอง คือการพัฒนาโครงสร้างธุรกิจ แทนที่เราจะลงทรัพยากรที่มีไปกับหน่วยธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง เราจะสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายโดยลงทุนในสาขาธุรกิจที่ไม่ได้มีสินทรัพย์มากไปด้วย และขั้นที่สามจะเป็นการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A) ในเชิงกลยุทธ์ โดยเข้าร่วม M&A ขนาดเล็ก ในสาขาที่มีความสอดคล้องกับธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แทนที่จะโฟกัสแต่เพียงการทำ M&A ขนาดใหญ่” นายชิมาดะ อธิบาย
โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ใน “โลกที่เชื่อมโยง”
เรามุ่งเน้นที่การรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคจากโลกทางกายภาพ และเมื่อได้รับอนุญาตหรือแปลงเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนแล้ว เราก็จะสามารถสร้างมูลค่ากลับคืนไปสู่ผู้บริโภคได้ ส่วนผู้ให้บริการธุรกิจก็สามารถนำเสนอสิ่งตอบแทนให้กับลูกค้าที่หลากหลายตามข้อมูลที่มี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับกรณีนี้คือระบบ ‘Smart Receipt’ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท โตชิบา เทค คอร์ปอเรชั่น (Toshiba TEC Corporation)
ระบบใบเสร็จรับเงินอัจฉริยะ Smart Receipt จะทำการแปลงใบเสร็จรับเงินที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อซื้อสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ลูกค้าจะสามารถเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ในสมาร์ตโฟนของตนเองได้ทันทีเมื่อสแกนบาร์โค้ด ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งสำหรับการเก็บหลักฐานการชำระเงิน และการดูแลค่าใช้จ่าย ในส่วนของร้านค้าเองก็สามารถใช้ข้อมูลตัวเดียวกันนี้ในการเสนอคูปองส่วนลดให้กับลูกค้าตามพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าแต่ละราย เช่น เสนอคูปองส่วนลด ราคาแซนด์วิชให้ลูกค้าที่ซื้อเป็นประจำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำข้อมูลที่มีไปใช้ในรูปแบบใด ระบบนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูระดับท้องถิ่นขึ้นได้
โตชิบา ดาต้า กำลังทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงระบบ Smart Receipt ได้มากขึ้น เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากระบบนี้
“ขั้นตอนการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่เราเชื่อว่าข้อมูลเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเราก็ยังเชื่อด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกใครผูกขาด สิ่งที่โตชิบาต้องการจะทำคือการสร้าง ‘โลกที่เชื่อมโยงกัน’ โลกที่เราสามารถทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งผสานพลังกับองค์กรอื่นๆ เพื่อที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคม และเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้” นายชิมาดะ กล่าวสรุป
นอกจากนี้ โตชิบา ดาต้า กำลังพิจารณาที่จะสนับสนุนด้านการจัดการให้กับสถาบันทางการแพทย์ โดยการร่วมงานกับผู้ให้บริการอื่น ๆ ในการช่วยสถาบันทางการแพทย์วิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ เพื่อตรวจสุขภาพและพยากรณ์โรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนจะแสดงอาการ
โตชิบา ดาต้า มุ่งมั่นที่จะเอาชนะความท้าทาย เพื่อสร้างระบบนิเวศการไหลเวียนข้อมูลที่ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมได้
More Stories
รฟฟท.รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนประเภทรัฐวิสาหกิจ ระดับ “ดี” ประจําปี 2567
UNIDO หนุนมุ่งลดคาร์บอนภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์ไทย
POP MART THAILAND ดัน SKULLPANDA อาร์ตทอยตัวท็อป จัดงาน “SKULLPANDA EXCLUSIVE EVENT” เนรมิตอีเว้นท์คริสต์มาสรูปแบบใหม่