
14 มิถุนายน 2566, กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมประกาศผลสำเร็จจากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ และเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่สู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมือง ในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม เผยช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแผน Smart City มากกว่า 120 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนตามแผนฯ ได้กว่า 66,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กัปตันเมืองท้องถิ่น และผู้นำเมืองร่วมขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ผลสำเร็จจาก “โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2” (The Smart City Ambassadors 2 (SCA#2)) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คณะผู้บริหาร ผู้นำเมือง และหน่วยงานพันธมิตรร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้คนในพื้นที่สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์การดำเนินชีวิต พร้อมยกระดับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่นผ่านโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม “โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กัปตันเมือง และผู้นำเมืองได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วยความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 446 คน จาก 170 หน่วยงาน 57 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม

“โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดแผน Smart City ใหม่ 126 พื้นที่ โดยได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นกว่า 50 พื้นที่ ประเมินมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามแผนฯ กว่า 66,000 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากกว่า 10 พื้นที่ สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 5,813 คน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 10,000 คน ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่โครงการที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ในกิจกรรม SCA#2 Final Pitching 2023 โดยมี 3 โครงการชนะเลิศการนำเสนอโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับรางวัล SCA#2 Award: BEST INITIATIVE SMART CITY PROJECT AWARD พร้อมรับทุนพัฒนาเมืองมูลค่ารวม 900,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือเป็นโครงการที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเมือง และในแผนการดำเนินงานมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาของเมือง อีกทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
• โครงการแพลตฟอร์มสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility)โดย บริษัท ร่วมพัฒนาเมือง จำกัด จังหวัดสตูล
สิ่งที่ทำ: พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบ Mobile Web Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวก
ในการให้บริการด้านการขนส่งสาธารณะ และเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ กระจายข่าว แจ้งเหตุ
ผลกระทบ: สร้างความเชื่อมั่น อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

• โครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Smart Economy และ Smart People) โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
สิ่งที่ทำ: นำเทคโนโลยีเรื่องภาพเสมือนจริง (AR) และสื่อสังคมออนไลน์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิสัมพันธ์ และดึงดูดนักท่องเที่ยว
ผลกระทบ: กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
• ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคม ตำบลอุโมงค์ (Smart Governance) โดย เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน
สิ่งที่ทำ: ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคมบนเว็บแอปพลิเคชัน รับเรื่องร้องเรียนและส่งคนเข้าไปจัดการปัญหา ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปจัดการปัญหา
ผลกระทบ: มีระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลในกิจกรรม SCA#2 Final Pitching 2023 ได้ที่เว็บไซต์ sca.depa.or.th และเฟซบุ๊กเพจ Smart City Thailand Office
More Stories
Net Zero Carbon จับมือกับ Spiro Carbon และ BSB ผลักดันเทคโนโลยีการเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก รักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย ‘ดินสู่ผืนดิน’
Health is the best gift you can give
Le Khwam Luck ร้านอาหารบรรยากาศอบอุ่นหัวใจ กลางย่านเอกมัย