มากกว่า 60% ของเด็กในกระบวนการยุติธรรมเป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา กสศ. ผนึกกรมพินิจฯและ 20 เครือข่าย ผลักดัน “โอกาสใหม่การศึกษาเพื่อเปลี่ยนชีวิต คืนคนคุณภาพสู่สังคม” ล่าสุดสถิติเยาวชนกระทำผิดซ้ำลดลงต่อเนื่อง
โดยมีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำนวน 1,958 คน ได้กลับสู่การศึกษาอีกครั้งด้วยการศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ขณะที่ตัวเลขการกระทำผิดซ้ำในปีแรกของเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 15.78 ในปี 2565
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เผยข้อมูลระหว่างปี 2561-2565 มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 12-18 ปี กระทำความผิด 134,747 คดี โดยเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 51.72 รองลงมามีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 17.57 ร้อยละ 68.67 ของคดีทั้งหมด ผู้กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับบิดา มารดา หรือบิดา มารดา แยกกันอยู่ ร้อยละ 66.89 เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยมีทั้งทำงานและว่างงาน
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่โดยส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากชั้นเรียนในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ออกกลางคันในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และไม่สามารถกลับมาเรียนต่อในระบบโรงเรียนได้ ส่งผลให้ “หลุดออกจากระบบการศึกษา” เพราะระบบการศึกษาไม่มีทางเลือกที่ครอบคลุมเพียงพอ
ล่าสุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายการศึกษากว่า 20 องค์กร จัดงาน “โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” ผลักดันวาระการศึกษาทางเลือกในระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All) ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนชี้ว่า เกินกว่าครึ่งของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่แยกกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องสร้างโอกาสให้เขาแทนที่จะตัดสินพวกเขา เด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าจะกำลังเผชิญกับปัญหาใดก็ตาม ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง กสศ. จึงริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมร่วมกับกรมพินิจฯ มูลนิธิปัญญากัลป์ มูลนิธิซีวายเอฟ และเครือข่ายศูนย์การเรียนอีก 6 แห่ง เพื่อเป็นโอกาสใหม่ทางการศึกษาเพื่อเปลี่ยนชีวิต คืนคนคุณภาพสู่สังคม เรามุ่งให้การศึกษาเป็นทั้งเกราะป้องกัน และเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม
เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากชั้นเรียนในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ออกกลางคัน ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และจำนวนมากไม่สามารถกลับมาเรียนต่อได้ทั้งในระบบโรงเรียนและ กศน. หรือ สกร. ตามกฎหมายใหม่ เป็นกลุ่มที่มีทักษะพิเศษในการเรียนแบบปฏิบัติการ กสศ. จึงสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาทางเลือก รูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ศูนย์การเรียนรู้ เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิต และเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้ สามารถออกแบบหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียนรายคน เรียนรู้แบบโครงงานฐานอาชีพ และเรียนจากประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) ร่วมกับสถานประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด รวมถึงพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม
นอกจากนี้กำลังพัฒนาให้เกิด ‘ชุมชนโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก’ ทำงานร่วมกันระหว่าง นักสังคมสงเคราห์ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ไม่กระทำผิดซ้ำอีก
“การจะทำให้การศึกษาทะลุฝ่ากำแพงหนาทึบและปิดสนิทเข้าไปได้ เป็นโจทย์ที่ยากด้วยข้อจำกัดนานัปการ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือ มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและทรงพลัง เพื่อให้การศึกษาเข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” และไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ เพื่อรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม มีการดูแลติดตามต่อเนื่องหลังกลับออกไปใช้ชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าน้อง ๆ ทุกคน จะพบที่ทางของตนในสังคม ไม่เวียนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีก
ด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า กรมพินิจฯ ได้กำหนดนโยบายให้กับทุกศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาบนฐานของกิจกรรมหรือกลุ่มประสบการณ์ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบอื่น ๆ และเปลี่ยนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเป็น Community of Learning ใช้โอกาสของวันเวลาภายในศูนย์ฝึกฯ เป็นพื้นที่ฝึกกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีตัดสินใจแบบใหม่
บุลคากรของเราเปลี่ยนบทบาทครู เป็น ‘โค้ชชีวิต’ ที่เชื่อมั่นในตัวเด็ก ให้โอกาสพวกเขาปล่อยพลังและความสามารถในตนเองออกมา และคอยเติม เสริม แก้ไข ในสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ เรียกว่าเป็นทั้งครูต่อยอด ครูเสริมพลัง ครูนักจัดการเรียนรู้ ขณะที่ผู้บริหารสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่สามารถออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมและมองภาพรวมการจัดการศึกษาได้ในทุกมิติครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน บรรยาการเปลี่ยน
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า จากการทำงานมีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำนวน 1,958 คน ได้กลับสู่การศึกษาอีกครั้งด้วยการศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียน ที่ร่วมกับ กสศ. และสามารถเรียนจบการศึกษาแล้ว 685 คน ขณะที่ตัวเลขการกระทำผิดซ้ำในปีแรกของเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 ร้อยละ 19.66 ในปี 2564 และร้อยละ 15.78 ในปี 2565 โดยสาเหตุของการกระทำผิดซ้ำมาจากการคบเพื่อน คึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และครอบครัว
“กสศ.ได้เห็นความสำคัญและศักยภาพเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จึงได้ออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้เป็นคนที่มีคุณภาพและเป็นบุคลากรที่ดี กรมพินิจได้ร่วมโครงการฯนี้กับกสศ.มาประมาณ2-3ปี เห็นได้ชัดว่าตัวเลขการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนลดลง ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมพินิจไม่เคยทำตัวเลขลดลงได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว”
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวด้วยว่า รอยต่อของเด็กที่พ้นจากสถานพินิจเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการให้โอกาสทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นประวัติศาตร์ของกรมพินิจเหมือนกัน ส่วนกลไกที่ทำให้เด็กเป็นบุคลากรที่ดีไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร การส่งเสริมและให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อให้เขามีวุฒิภาวะและสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า 2 สิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรกของเด็กกลุ่มนี้คือปัญหาครอบครัวได้ เนื่องจากการได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีงานทำที่ดีเขาจะเติบโตไปมีครอบครัวที่มีคุณภาพทำให้ตัดวังวนเดิมได้ หรือเด็กไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ ภายในงาน “โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” มีนิทรรศการร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตร ถ่ายทอดเรื่องราวทางเลือกการศึกษาของเยาวชนผ่านรสชาติของไอศกรีม, การแข่งขันทักษะดนตรี DJOP Music Contest 2023, กิจกรรมห้องเปิดโอกาส จัด Talk Event หัวข้อ Wayfinder : เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน และ เรียนผ่านหนัง ชวนดูหนังตั้งวงคุยกับ กสศ. และ doc club และมีกิจกรรมการแข่งขันทักษะความสามารถของเด็กและเยาวชน Rise and Shine ปล่อยของประลองอาชีพ เป็นมหกรรมความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันวาระการศึกษาทางเลือกในระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All)
More Stories
ZTE ร่วมงาน W.Media Thailand Cloud & Datacenter Convention 2024 เปิดตัวโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล..สุดล้ำสมัย
เปิดงาน didacta asia 2024 มิติใหม่ของการศึกษาในอนาคต
เอ็นไอเอฉลองครบรอบ 20 ปีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เชิดชูเกียรตินวัตกรไทย เสริมแรงหนุนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม