สสส. – สอจร.ภาคกลาง และ ภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกปกป้องและคุ้มครองทางสังคม ของอบต.ดอนคา เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และ การสูญเสีย พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยในชุมชนให้กลายเป็น 100 %
พื้นที่ ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในชุมชนที่มักเกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้นบ่อยครั้ง จากรถยนต์จากนอกพื้นที่ที่วิ่งผ่านชุมชนด้วยความเร็วสูง เพราะชุมชนแห่งนี้มีพิกัดอยู่ในช่วงกลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 333 สายอู่ทอง – ท่าน้ำอ้อย เป็นเส้นทางเชื่อมการจราจรระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรี กับจังหวัดอุทัยธานี รถยนต์ที่เดินทางข้ามจังหวัดจึงมักขับรถทำความเร็วเมื่อมาถึงบริเวณนี้ ขณะที่ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ค่อยสวมอุปกรณ์นิรภัย เช่นหมวกกันน็อค เพราะถือว่าเป็นการขับขี่ยานพาหนะในละแวกบ้าน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งจึงรุนแรงมาก และ มักเป็นความสูญเสียของคนในชุมชน ตัวเลขสถิติทางอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต.ดอนคา กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการของแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ภาคกลาง(สอจร.ภาคกลาง) ซึ่งต่อมาได้มีการลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูล และ หารือร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อวางแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. )
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าจากข้อมูลของ สสส. พบว่ากลุ่มเด็กอายุ 15 -17 ปีจะมีการเกิดอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสูง การทำงานเพื่อขับเคลื่อนการลดอุบิตเหตุจึงเน้นมาที่กลุ่มเด็กปฐมวัย เพื่อปลูกฝังตั้งแต่เริ่มต้น โดย สสส.เริ่มต้นด้วยการทำงานกับเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ซึ่งจะนำวิชาการเข้าไปสนับสนุนการทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้การเชื่อมร้อยเครือข่ายที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ครู สอ.จร. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเข้ามาร่วมดูแลเด็ก และช่วยกันสร้างเด็กให้เติบโตบนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางตลอดเส้นทาง
“เด็กเวลาเค้าไปอยู่ในชุมชน ก็มักจะตั้งคำถามว่าทำไมผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อคกัน ทั้งที่โรงเรียนสอนมาเป็นอย่างดีว่าหมวกกันน็อคเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บทางศรีษะ และ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้การเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์มีความปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากผู้ปกครองมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชนได้ ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทาทสำคัญในการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการมอบความปลอดภัยให้กับเด็ก และ คนในชุมชน ด้วยการสร้างกลไก ศูนย์อำนวยความปลอดภัยระดับท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อที่จะดูแลให้มีแผนปฏิบัติการครบวงจร สามารถที่จะดูแลให้ทุกคนปลอดภัย ในสังคมได้ค่ะ” นางสาวรุ่งอรุณกล่าว
นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าภาคคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.ภาคกลาง) กล่าวว่าคณะทำงานได้เริ่มต้นโครงการโดยขยายผลการทำงานจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ และ ศปถ.ท้องถิ่น ไปสู่การกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ในทุกหมู่บ้านลุกขึ้นมาขับเคลื่อนให้เกิดตำบลจักรยานยนต์ปลอดภัย โดยได้จัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนผ่านกลไก ศปถ.ท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำมาสู่การขับเคลื่อนงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกปกป้องและคุ้มครองทางสังคม ขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
“เด็กเล็กถือเป็นหัวใจของ ผู้ปกครอง และ เป็นจุดเปราะบางที่พ่อ แม่ที่จะให้ความสำคัญ เข้ามาดูแล และพร้อมให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมหากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับตัวเด็ก ซึ่งเราเริ่มจากการให้ความรู้ ความเข้าใจ และ ปลูกฝังเพื่อปรับพฤติกรรมด้านความปลอดภัยในการขับขี่ในศูนย์เด็กเล็ก ก็เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเราพบว่าพฤติกรรมในการสวมหมวกนิรภัยของเด็กเล็ก ส่งผลต่อการสวมหมวกนิรภัยของพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่มาส่งเด็กด้วย พฤติกรรมพวกนี้ทำให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนทัศนคติในการขับขี่ทำให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และครอบครัวเพิ่มขึ้น” นายชิษนุวัฒน์ กล่าว
นส.วัลลภา สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.ดอนคา กล่าวว่าการทำงานเพื่อของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ดอนคา เริ่มจากการประชุมวางแผนการสอนให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ และ ช่วงวัยที่แตกต่างกันของเด็กเล็กแต่ละศูนย์ฯ เพื่อพิจารณาว่าจะมีการใช้วิธีการสอนรูปแบบใดที่ช่วยให้เด็กสามารถซึมซับเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน และ กฏจราจร โดยไม่ใช้การท่องจำ เพื่อจะสามารถนำไปถ่ายทอดยังผู้ปกครองได้ ขณะที่การเรียนการสอนของครูจะใช้วิธีการพูด และปฏิบัติซ้ำ ผ่านการใช้บทบาทสมมติ และ การนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นการข้ามทางม้าลายที่ถูกวิธี การดูสัญลักษณ์ไฟจราจร และ การสร้างความมีวินัยในการสวมใส่หมวกกันน็อค นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมผู้ปกครอง และ ดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมขอความรร่วมมือในการปฏิบัติตามกฏจราจร และ ชี้ให้เห็นถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นจึงขอข้อคิดเห็นจากแต่ละส่วน ซึ่งผมออกมาได้รับการตอบรับที่ดี คนในชุมชนมีการปรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยจากเดิมที่มีน้อยมากกลายเป็นสวมใส่กันทุกคน
การขับเคลื่อนงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกปกป้องและคุ้มครองทางสังคม ขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ภาคกลาง(สอจร.ภาคกลาง) และ สสส. สู่การเชื่อมโยงการดำเนินงาน ศปถ.ท้องถิ่น และกลไก ศปถ.อำเภอ ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้สามารถถอดบทเรียน แนวทางการดำเนินงานและความสำคัญในการขยายผลการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ภายใต้สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา ไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มขึ้น เพื่อหวังสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี และ พื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก