มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าสนับสนุนงานวิจัย โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เจลลี่โภชนา สำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาเรื่องการเคี้ยวและการกลืน และโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำลายเทียมชนิดเจล ผลิตภัณฑ์ เจลลี่ (เดิมชื่อ วุ้นชุ่มปาก) โดยจัดตั้งโรงงานผลิตในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาปากแห้ง น้ำลายน้อย เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากและผู้สูงวัย กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ที่มีหน้าที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านทันตกรรมที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โรคทางทันตกรรมแก่ประชาชนและพร้อมสนับสนุนการบริการด้านทันตสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โรคมะเร็งในช่องปาก นับเป็นโรคทางทันตกรรมที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน สำหรับกระบวนการรักษาในบริเวณที่เป็นไม่ว่าจะโดยวิธีการให้คีโม การฉายแสง หรือการผ่าตัด ต่างก็ส่งผลให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต
มูลนิธิฯ สนับสนุนนักวิจัยไทยผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทยศาสตร์ ทั้ง 2 ท่าน คือ ผศ.ทพญ.ดร.อรุณวรรณ หลำอุบล ภาควิชาศัลยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ รศ.ทพญ.ดร.ดุลยพร ตราชูธรรม สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ทำการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับทันตกรรม โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาทุพโภชนาการ อันเกิดจากภาวการณ์บริโภคอาหารได้อย่างไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย และการพัฒนาน้ำลายเทียมชนิดเจล สำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปากและผู้สูงวัย ที่ประสบปัญหาปากแห้ง น้ำลายน้อย นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ในการนำผลิตภัณฑ์ไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย
โดยผลการวิจัยของโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เจลลี่โภชนา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Support Care Cancer สำนักพิมพ์ Springer ในหัวข้อ Nutri-jelly may improve quality of life and decrease tube feeding demand in head and neck cancer patients. และได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
เจลลี่โภชนา มีลักษณะเนื้ออาหาร (Texture) คล้ายเต้าหู้ไข่ เพื่อให้ผู้ป่วยเคี้ยวและกลืนได้ เนื้ออาหารไม่เหลวมากไปเพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสำลักได้ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ มีโปรตีนย่อยง่าย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางท่านที่รับประทานนมแล้วท้องเสียก็สามารถรับประทานได้ และได้ใช้เนื้อผลไม้จริงในการผลิตทุกรสชาติ ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 รสชาติ คือรสมะม่วง รสเสาวรส และรสมังคุด โดยกระบวนการผลิตได้รับการรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยในอาหาร ตามมาตรฐาน FSSC 22000 มาตรฐาน GHPs และได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล (Halal) เรียบร้อยแล้ว
ส่วนโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำลายเทียมชนิดเจล ผลิตภัณฑ์ เจลลี่ (เดิมชื่อ วุ้นชุ่มปาก) เป็นการต่อยอดจากเจลลี่โภชนา โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาโดยการฉายรังสีจึงส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำลาย โดยโครงการฯ ได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติ Springer ใน 2 หัวข้อ คือ
“Alleviation of Dry Mouth by Saliva Substitutes Improved Swallowing Ability and Clinical Nutritional Status of Post-Radiotherapy Head and Neck Cancer Patient : a Randomized Controlled Trial” เป็นงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอหลังจบรังสีรักษา โดยผู้ป่วยมีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย และกลืนลำบาก ผลการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์สามารถช่วยบรรเทาอาการปากแห้งและปัญหาการกลืนได้ดีกว่าน้ำลายเทียมชนิดเจลทางการค้า ซึ่งนำไปสู่ภาวะโภชนาการทางคลินิกที่ดีขึ้น จึงอาจมีความสำคัญต่อการสนับสนุนโภชนาการของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังจบรังสีรักษา
และหัวข้อ “Efficacy of gel-based artificial saliva on Candida colonization and saliva properties in xerostomic post-radiotherapy head and neck cancer patients: a randomized controlled trial” เป็นงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอหลังจบรังสีรักษา จากผลการศึกษาผลิตภัณฑ์พบว่า มีแนวโน้มช่วยปรับสมดุลเชื้อราในช่องปากลดปริมาณเชื้อราสะสมในช่องปากลดจำนวนชนิดของเชื้อราในช่องปากและมีความสามารถปรับค่าความเป็นกรด – ด่างในช่องปาก (Buffering capacity) ได้
การวิจัยยังทำการทดสอบความพึงพอใจและประสิทธิผลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มใหญ่ที่ประสบปัญหาปากแห้งน้ำลายน้อย อันเกิดจากยาที่รับประทานเป็นระยะเวลานาน อาทิ ยาที่ใช้รักษาโรคความดัน เบาหวาน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการผลิตน้ำลายของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อโรคทางทันตกรรม เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์ เป็นต้น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ เจลลี่ (เดิมชื่อ วุ้นชุ่มปาก) สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยกระบวนการผลิตได้รับการรับรองระบบกการจัดการความปลอดภัยในอาหาร FSSC 22000 มาตรฐาน GHPs และได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว มี 3 กลิ่น คือกลิ่นสตรอเบอร์รี่ กลิ่นน้ำผึ้งเลมอน และกลิ่นลิ้นจี่ โดยผลิตภัณฑ์สามารถกลืนได้ ทำให้สร้างความชุ่มชื้นทั้งในช่องปากและลำคอ และไม่ใส่สารกันบูด โดยผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานาน 1 ปี นับจากวันที่ผลิต สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติ แต่หลังจากเปิดใช้ผลิตภัณฑ์แล้วควรรับประทานภายใน 24 ชั่วโมง
สำหรับหน่วยงานหรือโรงพยาบาลที่สนใจเป็นจุดแจกผลิตภัณฑ์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @dent_in_found โทรศัพท์ 062-549-8146, 02-3182351-5 ต่อ 1403,1416
หรือติดตามได้ที่ Website: www.dent-in-found.org
Facebook: https://www.facebook.com/dentalinnovation40
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCWWuHSnPKN6UmXHK7J6FDQw
More Stories
ยาดมตราโป๊ยเซียน เปลี่ยนพลาสติกเป็นถนน UPCYCLING ลดปัญหาพลาสติกสะสมในประเทศ เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย
หลังคาไวนิลท้องเรียบ กันความร้อนได้ไหม
เอสซีจี คว้า 5 รางวัลงาน TMA Excellence Awards 2024 โดดเด่นด้านผู้นำ พัฒนาคนธุรกิจเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมกรีน ปรับองค์กรคล่องตัวยิ่งขึ้นรับทุกความท้าทายโลก