March 29, 2024

www.thainewsbiz.com

ครบธุรกิจ บันเทิง ท่องเที่ยว แลไลฟ์สไตล์

สธ. สรพ. ผนึกภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกฯ

สธ. สรพ. ผนึกภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกฯ “อนุทิน” ย้ำนโยบายแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา ลดอันตรายผู้ป่วยที่พึงหลีกเลี่ยงได้ พร้อมเชิดชูรพ.2P Safety จำนวน 855 แห่ง มุ่งเดินหน้าสู่ 3P safety

วันนี้ (17 กันยายน 2565)  ที่โรงแรมมิราเคิล  นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดการประชุมวันแห่งความปลอดภัยผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 4 (The 4Th World Patient Safety Day) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6Th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด Medication Safety: Medication Without Harm หรือ “ความปลอดภัยจากการใช้ยา: การใช้ยาโดยปราศจากอันตรายที่ป้องกันได้ พร้อมกล่าว ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเรื่อง 3P safety ในประเทศไทยเพื่อก้าวไปในระดับสากล” จากนั้น นพ.ณรงค์  สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบประกาศนียบัตรให้กับ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital ปี2565 จัดขึ้นโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  กล่าวว่า  การจัดงานวันนี้ สะท้อนถึงความตื่นตัวความตั้งใจของบุคลากรและองค์กรในระบบสุขภาพ  เห็นถึงความก้าวล้ำและเป็นผู้นำทางความคิดของประเทศไทย ตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยแต่คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้วย ซึ่งในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นว่า ผู้ป่วยมีโอกาสไม่ปลอดภัยถ้าบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยไม่ปลอดภัย และปีนี้องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยด้านยา (Medication Safety) มุ่งเน้นเชิญชวนประเทศสมาชิกกำหนดเป้าหมาย เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยา ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายความปลอดภัยของประเทศไทยที่กำหนดไว้แล้วใน Patient Safety Goals ในหมวด Medication Safety  และประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และบุคลากรผ่านโครงการ 2P Safety Hospital ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 855 แห่ง

“ขอชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการในปี 2565 และเข้ารับกิตติกรรมประกาศ 2P Safety Hospital ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึง  ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารและทีมงาน ในการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน ทำให้ประเทศไทยมีระบบ การรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเฝ้าระวัง วางแผนพัฒนาเชิงระบบ มีพื้นที่เวทีแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความปลอดภัย เกิดความร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนารูปแบบ กลไก และนวัตกรรมความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร และมีทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ ประสานแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า เราตื่นตัวในการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการขับเคลื่อนความปลอดภัยจากการใช้ยา จะต้องอาศัยองค์ประกอบ  3 ส่วน  คือ  ผู้ป่วย  บุคลากร สาธารณสุข  ญาติและครอบครัว”   นายอนุทิน  กล่าว

ด้านแพทย์หญิงปิยวรรณ  ลิ้มปัญญาเลิศ  ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.  กล่าวว่า  ประเทศไทยกำหนดเรื่องความปลอดภัยด้านยา เป็นหนึ่งในเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะเดียวกัน สรพ.ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัยที่ทุกรพ.ที่จะผ่านการรับรอง ต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดพลาดคลาดเคลื่อน มีระบบรายงานอุบัติการณ์ มีกระบวนการทบทวนและมีแผนบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง  จึงเป็นการขับเคลื่อนต่อยอดและสร้างแรงผลักดันในรพ.ที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital วางระบบป้องกันความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นโดยปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านการใช้ยา ปัจจุบันมี รพ.ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 855 แห่ง เป็นรพ.สมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมโครงการและรับใบประกาศนียบัตรเป็น รพ. 2P Safety Hospital จำนวน 98 รพ.

“จากรายงานข้อมูลระดับสากล พบว่า การใช้ยาเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มากที่สุด ทั้งการจ่ายยาผิดคน ผิดขนาด ผิดชนิด ใช้ยาผิดวิธี จึงต้องมุ่งเน้นสร้างระบบป้องกันเพื่อลดอันตรายต่างๆที่จะเกิดกับผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่มีผลแทรกซ้อน ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากระบบ National reporting and learning system พบว่า อุบัติการณ์ความเสี่ยงอันดับ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา โดยมีการรายงานอุบัติการณ์ประมาณ 1 แสนครั้งต่อปี แต่ข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นและถึงตัวผู้ป่วยหรือได้รับยาดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง1.5% เท่านั้น สะท้อนว่าประเทศไทยมีการพัฒนาระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาที่ดีที่ มีระบบตรวจเช็ค ก่อนการให้ยากับผู้ป่วย รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยให้บริการ และการให้ประชาชนและญาติช่วยกันตรวจสอบ โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ถึงตัวผู้ป่วยด้านยาลง 50% ร่วมกัน” ผอ.สรพ. กล่าว

You may have missed