องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เดินหน้าสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไทย เปิดตัวโครงการใหม่ชื่อ “การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 8 ล้านดอลลาร์แคนาดา จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศแคนาดา โดยโครงการฯ มุ่งหมายที่จะช่วยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต ทั้ง ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนากลยุทธ์การลดคาร์บอนที่เป็นรูปธรรม สามารถสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของประเทศไทยให้เป็นจริง และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
โครงการนี้ดำเนินงานควบคู่กับอีกโครงการของ UNIDO ชื่อ Industrial Deep Decarbonization Initiative (IDDI) ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนตลาดรองรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และคอนกรีต อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ ตามแผน Breakthrough on Cement and Concrete ซึ่งปัจจุบันมีแคนาดาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประธานร่วม
อุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต มีอัตราการปล่อยคาร์บอนประมาณ 7-8% จากการใช้พลังงานทั่วโลก เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการคงอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยก๊าซจากกระบวนการแปรสภาพทางเคมีของหินปูนเป็นปูนเม็ด การลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต นอกจากจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งระบบอย่างครอบคลุม
โดยทาง UNIDO ได้จัดงานเสวนาเพื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ภายในงานทางโครงการได้อธิบายวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดจากโครงการ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีการเสวนาถึงแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านนโยบายและการดำเนินงานจากประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และจีน ที่จะช่วยสนับสนุนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม และการนำมาแลกเปลี่ยนความรู้ และประยุกต์ใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน
โครงการฯ ได้รับเกียรติจาก เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย คุณปิง กิดนิกร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมหนักอย่างซีเมนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส อุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานที่คาร์บอนต่ำและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โครงการด้านสภาพภูมิอากาศแบบทวิภาคีนี้มุ่งเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศโดยให้ความสำคัญกับการริเริ่มและส่งเสริมความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงในความพยายามลดการปล่อยคาร์บอน ที่สำคัญกว่านั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศแคนาดาและประเทศไทยครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย ข้อบังคับ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติสำหรับกระบวนการผลิตภัณฑ์ซีเมนต์แบบคาร์บอนต่ำ เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำเนินงานแล้ว ประเทศไทยจะสามารถนำผลการดำเนินงานไปใช้และขยายผลได้เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ในงานได้กล่าวถึงแผนงานเชิงองค์รวมสำหรับการบรรลุเป้าหมายคอนกรีตคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ของประเทศแคนาดา ซึ่งข้อเสนอด้านนโยบายที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ระบุถึงข้อกำหนดขั้นต่ำและข้อบังคับสำหรับปัจจัยอย่าง หลักเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและมาตรฐานประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ การกำหนดราคาคาร์บอน นโยบายจัดซื้อจัดจ้าง และโครงการสนับสนุนด้านการเงินและภาษี อีกหนึ่งตัวอย่างของแนวปฏิบัติระดับสากลที่กล่าวถึงคือ คือแผนงานการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตของสหราชอาณาจักร ที่มีข้อเรียกร้องหลักต่อรัฐบาล เช่น การออกมาตรการใหม่ในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการรั่วไหลของคาร์บอน ความชัดเจนในระยะยาวเกี่ยวกับเงินทุนและการสนับสนุน การนำมาตรการคำนวณคาร์บอนแบบใหม่มาใช้ และการใช้อำนาจของรัฐบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง
เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นไปในทางเดียวกันในการดำเนินโครงการฯ UNIDO จะดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานหลักในขับเคลื่อนโครงการฯ โดยคณะทำงานมาจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมบัญชีกลาง กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรธมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ได้กล่าวภายในงานว่า “TCMA ขอขอบคุณรัฐบาลแคนาดา ที่เห็นถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย และให้การสนับสนุนโครงการนี้ ปัจจุบัน TCMA ร่วมกับ UNIDO โดยการสนับสนุนของภาครัฐ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องในปีแรกแล้ว ซึ่งสะท้อนภาพความสำคัญของการเร่งลงมือทำของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
คุณริคาร์โด ซาวิกเลียโน หัวหน้าหน่วย Energy Systems and Decarbonization ของสำนักงานใหญ่ UNIDO ได้กล่าวว่า “การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของเราไม่ควรส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ UNIDO และพันธมิตร พร้อมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ UNIDO มีความยินดีที่เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และรัฐบาลแคนาดาในการเป็นผู้นำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมซีเมนต์สู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของในระดับโลก”
More Stories
ผลิตภัณฑ์ตราโป๊ยเซียน จัดใหญ่ “โป๊ยเซียนกาชาปองยักษ์” มอบเป็นของขวัญและความสุข ในงาน Siam Street BIG RETURN 2024
จุฬา และ สสว. ลงนาม MOU ความร่วมมือโครงการ “One Click” นำ AI ยกระดับ SMEs เข้าถึงสินเชื่อสีเขียวในคลิกเดียว
เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ส่งท้ายปีอย่างยิ่งใหญ่ กวาดรางวัลการันตีตลอดปี 2024สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมจากหลากหลายเวที ทั้งด้านการออกแบบ ห้องอาหาร และสปา